Start planning your trip
รับมือญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีเป็น 10% วิธีใช้จ่ายให้คุ้มค่าราคาถูก
ญี่ปุ่นเตรียมปรับขึ้นภาษีเป็น 10% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2019 แต่มีสินค้าบางอย่างที่สามารถซื้อได้ในราคาถูก MATCHA จะมาแนะนำพร้อมวิธีจับจ่ายให้ได้ราคาถูกด้วย
ญี่ปุ่นปรับภาษีผู้บริโภคเป็น 10%
ภาษีผู้บริโภคของญี่ปุ่น พูดให้ง่ายแล้วก็คล้ายกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของไทยที่ถูกรวมเอาไว้ในสินค้าและบริการ ซึ่งญี่ปุ่นเคยมีการปรับเพิ่มมาแล้วจาก 3% เป็น 5% ในปี 1997 และจาก 5% เป็น 8% ในปี 2011
ครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2019 เป็นต้นไป เวลาเราไปซื้อของตามร้านร้อยเยน จากที่จ่าย 108 เยน ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นจ่าย 110 เยนแทน
หลายคนอาจจะบอกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติทำเรื่องหักภาษี-คืนภาษีได้ ไม่น่าจะกระทบอะไร แต่เอาเข้าจริงก็มีส่วนที่กระทบเราเหมือนกันนะ เพราะเวลาที่เราไปนั่งทานข้าวหรือซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช่ว่าจะทำเรื่องคืนภาษีได้ทั้งหมด แต่ก็มีของบางอย่างที่เราสามารถซื้อได้ในราคาถูกอยู่ด้วยนโยบายลดหย่อนภาษี
นโยบายลดหย่อนภาษี
นโยบายลดหย่อนภาษี (เคเก็งเซริตสึ : 軽減税率) คือการคงภาษีเอาไว้ที่ 8% เหมือนเดิมให้กับสินค้าบริโภค ซึ่งน่าจะเรียกว่าดีต่อคนซื้อ แต่ก็ดันมีความยุ่งยากเพิ่มเข้ามาให้เวียนหัวอีกหน่อยเรื่องการตีความ
ถ้าเอาง่ายๆ สินค้าที่คิดภาษี 8 % เท่าเดิมก็คืออาหารและเครื่องดื่มทั้งหลาย ยกเว้นประเภทแอลกอฮอล์ ยา และการทานตามร้าน (ที่จริงยังมีหนังสือพิมพ์แบบที่สมัครรายเดือนให้ส่งที่บ้านอีก แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราไม่เกี่ยวอยู่แล้ว) ลองมาดูประเภทสินค้าที่อยู่ในข่ายลดหย่อนภาษีกัน
ประเภทสินค้า และบริการ |
8% | 10% |
อาหารและเครื่องดื่ม | - ผัก เนื้อสัตว์ ขนม น้ำอัดลม ขนมปัง - น้ำขวด น้ำแร่ขวด - เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ - มิริน และเครื่องปรุงที่มีแอลกอฮอล์ไม่ถึง 1% |
- ยา - เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ - มิริน เหล้าปรุงอาหาร เครื่องปรุงที่มีแอลกอฮอล์ |
ร้านสะดวกซื้อ | ซื้อกลับ | นั่งทานตรงเก้าอี้ในร้านหรือพื้นที่ที่ทางร้านจัดไว้ |
ร้านอาหาร | ซื้อกลับ | นั่งทานในร้านหรือพื้นที่ที่ทางร้านจัดไว้ |
โรงแรม | เครื่องดื่มในตู้เย็นห้องพัก | ห้องอาหารโรงแรม รูมเซอร์วิส |
รถไฟ | ซื้อจากรถเข็นขายอาหารแล้วทานตรงที่นั่งตัวเอง | ห้องอาหารของรถไฟ |
เก็บผลไม้ | - ซื้อผลไม้เป็นแพ็คกลับ - เข้าไปเก็บผลไม้ เอามาชั่งแล้วซื้อกลับ |
เข้าไปเก็บผลไม้แล้วทานเลยในสวน |
ตอนไปซื้อก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทางร้านจะคิดภาษีให้เราเอง แต่ความเวียนหัวจะมาอยู่ตรงคำว่า "ทานตามร้าน" นี่แหละ
ซื้อกลับ - ทานตามร้าน
จาก "排隊也要吃到的蓬鬆美味法式吐司,「Ivorish」 福岡本店"
ทานตามร้าน หมายรวมถึง การทานในพื้นที่หรือบริเวณที่ทางร้านจัดเตรียมไว้ให้ ได้แก่ ร้านอาหาร โรงอาหาร ร้านฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ที่นั่งในร้านสะดวกซื้อ ร้านยะไตริมถนน รูมเซอร์วิสตามโรงแรม
ณ ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งซึ่งมีที่นั่งภายในร้าน
Photo by Pixta
ลูกค้า A : ขอไก่ทอดคาราอาเกะ 1 ห่อครับ
ลูกค้า B : ขอด้วยหนึ่งครับ
พนักงาน : รับไส้กรอก ซาลาเปาเพิ่มไหมคะ... (เดี๋ยว! นี่ที่ญี่ปุ่น!) จะเอากลับหรือทานในร้านคะ?
ลูกค้า A : ทานในร้านครับ
พนักงาน : (ราคา 150 เยน + 10%) 165 เยนค่ะ
ลูกค้า B : เอากลับครับ
พนักงาน : (ราคา 150 เยน + 8%) 162 เยนค่ะ ← ถูกกว่าทานในร้าน 3 เยน
ภาษาญี่ปุ่นที่จำเป็นในสถานการณ์นี้คือคำว่าเอากลับ ให้พูดว่า โมจิคาเอริ (Mochikaeri : 持ち帰り) หลังๆ มาบางร้านก็ใช้ภาษาอังกฤษว่า เทคเอาท์ (Take out : テイクアウト) บ้างแล้วเหมือนกัน
ทีนี้หลังจากซื้อเสร็จ ลูกค้า B เกิดเอาไปนั่งทานในร้านขึ้นมา พนักงานก็อาจจะมาห้ามได้ แค่ฟังก็ยุ่งยากแล้ว เชื่อว่าพนักงานต้องมีกดผิดกดถูกกันบ้าง และก็ต้องมีลูกค้าหลายคนที่บอกซื้อกลับแต่เอามานั่งทานในร้านแน่ๆ คิดว่าพอเริ่มใช้จริงคงมีมาตราการชัดเจนขึ้น
แต่ร้านเชนสโตร์หลายร้านก็ใช้วิธีทำราคาให้เท่ากันเพื่อลดความยุ่งยากให้ลูกค้า เช่น KFC (คนญี่ปุ่นจะเรียกชื่อเต็มว่า เค็นทักกี ไม่อ่านตัวย่อเหมือนคนไทย) และร้านข้าวหน้าเนื้อซุกิยะ (Sukiya) วิธีคือลดราคาอาหารแบบไม่รวมภาษีเวลาทานในร้านลง 2% ตอนจ่ายเงินพอคิดภาษี 10% เข้าไปแล้วก็จะราคาเท่ากับคนที่ซื้อกลับบ้าน ส่วนต่างนี้ทางร้านจะเป็นคนรับภาระไปเอง
ระบบคืนพอยต์เมื่อจ่ายแบบแคชเลส
Picture courtesy of PR TIMES
การขึ้นภาษีอย่างนี้ย่อมกระทบต่อชีวิตผู้คนที่อาศัยในประเทศแน่นอน ทางรัฐบาลเลยออกระบบคืนพอยต์ (และแคชแบ็ค) เมื่อจ่ายแบบแคชเลสตามร้านค้าขนาดเล็ก-กลาง จะได้รับพอยต์คืน 5% ส่วนร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารเชนสโตร์ทั่วไปได้ 2% ขึ้นอยู่กับร้านค้าว่าจะใช้ระบบคืนพอยต์เพื่อให้ใช้ในครั้งต่อไปหรือใช้ระบบลดราคาทันที โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าและบริษัทบัตรทั้งหลาย กำหนดใช้ถึงเดือนมิถุนายน 2020 เป็นระยะเวลา 9 เดือนเท่านั้น
แคชเลสในที่นี้รวมตั้งแต่การใช้บัตรเติมเงิน IC card เช่น SUICA และ PASMO ไปจนถึงการจ่ายผ่านบาร์โค้ดเช่น Apple Pay และแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ด้วย แต่การคืนพอยต์จะต่างกันขึ้นอยู่กับบริษัทของบัตรและระบบนี้ค่อนข้างจะเน้นไปที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นหลัก อย่างของ SUICA และ PASMO ถ้าจะรับพอยต์คืนต้องลงทะเบียนทางเว็บก่อนด้วย โดย SUICA จะคิดรวมพอยต์ให้ทีละเดือน สามารถใช้ได้ในเดือนถัดไปทันที แต่ PASMO จะรวมพอยต์ทีละ 3 เดือน เพราะงั้นคนที่มาเที่ยวชั่วคราวแบบสั้นๆ แล้วไม่ได้มาอีกนาน ถึงได้พอยต์ไปก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี
คืนภาษีช่วยได้! รวมซื้อทีเดียวจะได้ทำเรื่องคืนภาษีได้
จาก "【札幌狸小路】藥妝店激戰區分析!買到手軟不負責"
เรื่องคืนภาษีนี้หลายคนน่าจะเทิร์นโปรกันแล้ว เวลาไปซื้อของตามร้านขายยาหรือร้านปลอดภาษีอย่างดองกี้ก็จะใช้ระบบเดียวกับตารางด้านบน เช่น เครื่องสำอาง ยาหยอดตา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิด 10% น้ำอัดลมและขนมทั้งหลายคิด 8% แต่ถ้าซื้อเยอะก็ทำเรื่องคืนภาษีได้
สินค้าอุปโภคบริโภคใช้แล้วหมดไป
ถ้าซื้อรวมตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 500,000 เยน (จากราคาไม่รวมภาษี) ในร้านเดียวกันวันเดียวกัน ก็สามารถทำเรื่องคืนภาษีได้
สินค้าทั่วไป
เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้อง กระเป๋า ต้องซื้อรวมตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไป (จากราคาไม่รวมภาษี) ในร้านเดียวกันวันเดียวกันถึงจะทำเรื่องคืนภาษีได้
อันนี้คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอดเลยเพราะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น
ภาษีขาออกนอกประเทศญี่ปุ่น
จาก "วิธีการใช้บริการร้านค้าปลอดภาษีในประเทศญี่ปุ่น"
ภาษีอีกประเภทที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2019 คือภาษีขาออกนอกประเทศญี่ปุ่น ชื่อทางการคือ ภาษีนักเดินทางระหว่างประเทศ (International Tourist Tax) โดยจะเก็บภาษีเพิ่ม 1,000 เยนต่อการเดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่น 1 ครั้ง มีผลบังคับใช้กับผู้โดยสารอายุ 2 ขวบขึ้นไปที่เดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นทางเรือหรือเครื่องบิน อันนี้คนญี่ปุ่นเองก็โดนเรียกเก็บเหมือนกัน จุดประสงค์เพื่อนำมาใช้พัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ
สรุป
การขึ้นภาษีนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเลยทีเดียว สำหรับนักท่องเที่ยวก็อาจกระทบบ้างเรื่องค่าใช้จ่ายตอนไปทานอาหารและช้อปปิ้งของเล็กๆ น้อยๆ
แต่ภาษีที่เรียกเก็บนี้ก็ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคและการจัดการด้านต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย เพราะฉะนั้นในระยะยาวแล้วก็อาจจะเรียกว่าเป็นการดีสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราอยู่เหมือนกัน คราวนี้ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อม อย่างน้อยก็จะได้ใช้จ่ายในราคาถูกได้
Written by
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง