Start planning your trip
เส้นทางแสวงบุญคุมาโนะโคะโด สถานที่ในความทรงจำซึ่งเปลี่ยนชีวิตของผม
ผู้เขียนเมื่อก่อนไม่สนใจเรื่องการเที่ยวในญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของผมคือ เส้นทางแสวงบุญคุมาโนะโคะโด ในปี 2010 สิ่งที่คิดได้ระหว่างการเดินบนเส้นทางแสวงบุญเมื่อออกจากศาลเจ้าคุมาโนะฮงกู ทำให้ผมก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานด้านการท่องเที่ยวครับ
ค้นพบความงามของการเที่ยวญี่ปุ่นที่คุมาโนะโคะโด
แม่น้ำคุมาโนะ ตอนที่ผู้เขียนได้ไปเยือนอีกครั้งในปี 2016
เมื่อก่อนนั้นผู้เขียนซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นไม่ค่อยสนใจเรื่องการเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นเท่าไหร่ครับ
สมัยเรียนผมเคยได้เข้าร่วมทัวร์เพื่อการศึกษา ไปเยือนตามเมืองที่ยากจนของฟิลิปปินส์และอินเดีย ทำให้ผมตกใจกับโลกที่แตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง รวมถึงรู้สึกว่าการเที่ยวในญี่ปุ่นไม่มีความน่าตื่นเต้นตกใจเท่าการเที่ยวเมืองนอก
แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไป นั่นคือการได้ไปเที่ยวช่วงวันหยุดยาวโกลเด้นวีค (ต้นเดือนพฤษภาคม) เป็นครั้งแรกหลังจากเริ่มทำงานประจำ สถานที่แห่งนั้นคือ เส้นทางแสวงบุญคุมาโนะโคะโด (Kumano Kodo) ในจังหวัดวาคายามะ (Wakayama)
โอซาก้าในปี 2010
หลังจากผมเรียนจบระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลับแล้วก็เริ่มเข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งที่โอซาก้าในเดือนเมษายน 2010
ท่ามกลางบรรยากาศที่ยังได้รับมรสุมจากวิกฤตเศรษฐกิจ Lehman Shock (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ หลังจากการหางานอย่างเอาเป็นเอาตาย ในที่สุดก็ได้งาน แต่การทำงานนั้นก็ไม่ได้ราบรื่น ผมถูกเจ้านายดุใส่แทบทุกวัน
ผมเองเกิดและเติบโตในภูมิภาคคันโต ที่โอซาก้าจึงไม่มีเพื่อนคอยปรึกษาหรือฟังความทุกข์ แต่ละวันผ่านไปอย่างโดดเดี่ยว
ในใจของผมร่ำร้องว่าอยากจะไปรีเฟรชกายใจที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่ที่นี่ ...
หลังจากนั่งคิดว่าจะไปเปลี่ยนบรรยากาศที่ไหนดีที่ใช้เงินไม่มากและได้ค้างสัก 1 คืน ชื่อของ คุมาโนะโคะโด ก็เข้ามาในหัวครับ
เส้นทางแสวงบุญ คุมาโนะโคะโด เป็นเส้นทางสำหรับเดินแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ศาลเจ้าอิเซะไปจนถึงเขาโคยะ ซึ่งมีผู้คนมากมายก้าวผ่านเส้นทางนี้มาตั้งแต่อดีตกาล ในตอนนั้นตัวผมเองยังไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์เหล่านี้เลยด้วยซ้ำ
วันที่ 1 นั่งรถด่วน คุโระชิโอะ ไปยังคุมาโนะโคะโด
ชมบรรยากาศของทิวทัศน์ตามเส้นทางรถไฟ คุโระชิโอะ (Kuroshio) ได้ในคลิป
วิธีไปคุมาโนะโคะโดมีด้วยกันหลายวิธี ผมเลือกเดินทางจากโอซาก้าโดยตรงไปยังสถานี JR ชินกู (Shingu)
จากสถานี JR ชินโอซาก้า (Shin Osaka) ผมนั่งรถด่วนคุโระชิโอะ (Kuroshio Limited Express) ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาทีมาถึงสถานี JR ชินกู ระหว่างรถไฟจะวิ่งผ่านจุดที่มีวิวแสนสวยอย่างรีสอร์ทออนเซ็นริมทะเลชิราฮามะและออนเซ็นคัตสึอุระ
เมื่อเห็นแสงสว่างแสนอบอุ่นสาดส่อง สะท้อนทะเลเป็นประกายระยิบระยับ ทำให้ผมยิ่งรู้สึกได้ว่าผมได้ออกจากเหล่าตึกสูงในโอซาก้า ไปยังสถานที่แสนไกลแล้ว
เดินไปบนเส้นทางภูเขาจากศาลเจ้าคุมาโนะฮงกู
พื้นที่ของคุมาโนะโคะโดนั้นมีศาลเจ้าสำคัญ 3 แห่งเรียกรวมกันว่า "สามเขาแห่งคุมาโนะ (Kumano Sanzan)" ประกอบด้วยศาลเจ้าคุมาโนะฮงกูไทชะ (Kumano Hongu Taisha) ศาลเจ้าคุมาโนะนาจิ ไทชะ (Kumano Nachi Taisha) และศาลเจ้าคุมาโนะฮายาทามะไทชะ (Kumano Hayatama Taisha)
ในวันนี้ผมเริ่มจากไปยังคุมาโนะฮงกูไทชะครับ
ศาลเจ้าคุมาโนะฮงกูไทชะกล่าวกันว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ 33 ปีก่อนคริสตศักราช ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาแสนงดงาม
หลังจากไหว้พระเสร็จ แวะพักสักนิด สัมผัสสายลมสดชื่นที่พัดมา ผมมองดูเหล่าต้นไม้ที่มีแสงสว่างลอดผ่าน ทำให้รู้สึกอยากจะเดินไปตามเส้นทางบนภูเขาขึ้นมา
ยิ่งก้าวเท้าขึ้นไปบนบันไดหินทีละก้าว ลมหายใจยิ่งแรงขึ้น พร้อมกับเหงื่อที่ไหลซึม สำหรับผมที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การเดินบนภูเขาช่วยให้รู้สึกเหมือนได้ฝึกฝนร่างกาย
ผมเดินไปได้สักพักจึงรู้สึกตัวว่า "อ๊ะ ผมเอาแต่เดินมองเท้าตัวเองนี่นา"
เวลาที่เราเดินขึ้นเขา เรามักจะเผลอมองลงด้านล่าง โดยเฉพาะเวลาเหนื่อยๆ ยิ่งแล้วใหญ่
ลองหยุดเดินสักครั้ง แล้วสูดลมหายใจเข้าลึกๆ มองไปด้านหน้าของเส้นทางบนเขาที่กำลังเดินอยู่ การสูดลมหายใจจะช่วยให้จิตใจเราสงบขึ้น ร่างกายสัมผัสลึกซึ้งได้ถึงความสวยงามของท้องฟ้า พลังชีวิตอันเข้มแข้งของแมกไม้ ความสดชื่นของสายลม
แล้วผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า "ตอนนี้ผมเอาแต่คิดถึงความลำบาก แต่ถ้าผมเงยหน้าขึ้นมองตรงไปด้านหน้า ตรงนั้นอาจจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามรออยู่ก็เป็นได้"
ศาลเจ้าคุมาโนะฮงกูไทชะมีเส้นทางสักการะ 3 เส้นทาง คือ นากาเฮจิ (Nakahechi) โคะเฮจิ (Kohechi) และโอมิเนะโอคุกาเคะมิจิ (Omine okugakemichi) เส้นทางภูเขาที่ผมเดินไปนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเส้นทางคุมาโนะโคะโดเท่านั้นครับ
ในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 - 1185) ซึ่งศาสนาพุทธนิกายโจโด (นิกายสุขาวดี) เชื่อกันว่าเส้นทางแสวงบุญคุมาโนะโคะโดคือ "ปากทางสู่แดนสุขาวดี" จึงมีเหล่าขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มากราบไหว้เป็นจำนวนมาก
แดนสุขาวดีนั้นหมายถึงดินแดนบริสุทธิ์ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ การไปสักการะไหว้พระ ณ แดนสุขาวดีแล้วกลับมาจึงมีความหมายว่าตนเองได้เปลี่ยนจากตัวเองคนเดิมก่อนการไปไหว้ ได้เกิดเป็นคนใหม่อีกครั้ง
คุมาโนะโคะโด แดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีประวัติศาสตร์แบบนั้นอาจได้มอบมุมมองที่ตัวผมไม่เคยมีให้กับผมก็เป็นได้
ช่วงเวลาที่ได้หวนมองตนเองอย่างสงบ
บรรยากาศยามเย็นบริเวณใกล้สถานีชินกูที่มีแม่น้ำคุมาโนะไหลผ่าน
ตอนเย็นผมไปทานอาหารที่ร้านโอโคโนมิยากิหน้าสถานี แล้วมานั่งนึกว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมตัดสินใจเดินทางมาคุมาโนะโคะโดเมื่อคืน โรงแรมใกล้ๆ จึงเต็มทั้งหมด
สุดท้ายผมก็ไปนั่งบาร์ที่เปิดจนดึกบ้าง แวะไปสวนสาธารณะใกล้ๆ บ้างจนถึงเช้า แม้จะเหนื่อย แต่น่าประหลาดใจที่ผมกลับไม่รู้สึกอารมณ์เสียเลย
การใช้เวลาหวนมองตัวเองเงียบๆ คนเดียว
นี่เป็นสิ่งที่ผมหลงลืมไปนานแล้ว
จังหวะที่ฟ้าเริ่มสว่าง ผมย้อนไปยังริมแม่น้ำคุมาโนะใกล้สถานี JR ชินกู และเฝ้ามองท้องฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้นด้วยความรู้สึกราวกับตัวผมเองได้เกิดใหม่แล้ว
วันที่ 2 รู้สึกถึงความสนุกอีกครั้งที่ศาลเจ้าคุมาโนะนาจิไทชะ
เช้าวันนั้นผมมุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าคุมาโนะนาจิไทชะ
ในบริเวณศาลเจ้ามีน้ำตกนาจิ (Nachi Falls) ซึ่งมีความสูงถึง 133 เมตร นับเป็น 1 ใน 3 น้ำตกอันยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นร่วมกับน้ำตกเคะกง (Kegon) ที่นิกโก้และน้ำตกฟุคุโรดะ (Fukuroda) ในจังหวัดอิบารากิ ด้านข้างยังเป็นที่ตั้งของวัดนาจิซัง เซกันโตะ (Nachisan Seganto) ซึ่งมีเจดีย์แดงสูงสามชั้น นับเป็นจุดถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงของคุมาโนะโคะโด
โดยรอบครึกครื้นไปด้วยนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะมากันเป็นครอบครัว คู่รัก หรือกลุ่มเพื่อนๆ
แต่ละคนต่างสนุกในแบบของตัวเองด้วยการถ่ายรูป ทานของอร่อย และอื่นๆ ท่ามกลางบรรยากาศสดใสร่าเริงของโกลเด้นวีค ทำให้ผมรู้สึกเบิกบานจากใจจริงขึ้นมาด้วย
หินโกโตะบิคิ (Gotobiki) ในศาลเจ้าคามิคุระ (Kamikura Shrine) ข้างๆ ศาลเจ้าคุมาโนะฮายาทามะไทชะ ภาพถ่ายเมื่อปี 2016 ที่ผู้เขียนไปเยือนอีกครั้ง
ผมเดินจากสถานี JR ชินกูประมาณ 15 นาทีไปยังศาลเจ้าคุมาโนะฮายาทามะไทชะเป็นที่สุดท้าย เมื่อสักการะศาลเจ้าหลักแล้ว ก็เดินวนไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ทั้งต้นนากิอายุ 1,000 ปีที่มีชื่อเสียงและหินโกโตะบิคิที่ได้รับการบูชาในฐานะร่างของเทพเจ้าตั้งแต่ยุคที่มนุษย์นับถือธรรมชาติ
จากนั้นผมแวะซื้อเครื่องรางรูปยาตะการาซุ (Yatagarasu) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสามเขาแห่งคุมาโนะ ยาตะการาซุคืออีกาที่มีสามขา กล่าวกันว่าเป็นข้ารับใช้เทพเจ้านำทางผู้คน และยังเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นอีกด้วย
ผมกำเครื่องรางไว้ในมือแล้วไหว้พระที่ศาลเจ้าหลักอีกครั้ง
"ขอให้ต่อจากนี้ไปมีแต่เรื่องดีๆ"
เอาล่ะ ได้เวลากลับเสียที
ขากลับผมเลือกนั่งรถไฟด่วนคุโระชิโอะเช่นเดิม ระหว่างทางจนถึงโอซาก้าผมก็นอนหลับพักผ่อนในรถอย่างสบาย
เยือนแดนศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง
ภาพถ่ายทิวทัศน์จากวัดอิยาดะนิ (Iyadani Temple) วัดแห่งหนึ่งบนเส้นทางธุดงค์ภายในเมืองมิโทโยชิ จังหวัดคากาวะ ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ในปัจจุบัน
เวลาผ่านมาแล้วถึง 10 ปี ตอนนี้ผมรู้สึกว่าชีวิตของผมค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางทีดีขึ้น
ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 ผมย้ายมาอยู่ในจังหวัดคากาวะ ภูมิภาคชิโกะคุ (Chigoku) ภูมิภาคนี้มีเส้นทางแสวงบุญที่เป็นที่รู้จัก เรียกกันว่า โอเฮนโระ (Ohenro) แปลว่าเส้นทางธุดงค์ ใกล้บ้านของผมมีผู้แสวงบุญจำนวนมากในชุดสีขาวผ่านไปมาเรื่อยๆ
พวกเขาเหล่านั้นจะเดินแต่ละก้าวไปด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับผมในตอนนั้นไหมนะ ...
เมื่อเห็นพวกเขา ผมมักจะนึกแบบนั้น
การเดินทางเพียง 1-2 ครั้งไม่ทำให้ชีวิตคนเราเปลี่ยนไปในทันที แต่การเดินทางบางครั้งอาจเป็นจุดเริ่มในการเปลี่ยนและช่วยชีวิตของคนบางคน
คุมาโนะโคะโดในวันนี้อาจจะกำลังช่วยนำทางคนหนุ่มสาวที่เคยเป็นแบบผมในวันนั้นก็เป็นได้
- ค้นหาและจองที่พักกับ Booking.com
- ค้นหาและจองที่พักกับ Rakuten Travel
- ค้นหาและซื้อตั๋วรถไฟกับกิจกรรมต่างๆ ที่ KLOOK
- ค้นหาและซื้อตั๋วรถไฟกับกิจกรรมต่างๆ ที่ Voyagin
- ซื้อทัวร์แสนสะดวกพร้อมไกด์กับ HIS
- หาและจองเที่ยวรถบัสได้ที่ Kosokubus.com หรือที่ Willer Express
(บริษัทในกรอบนี้เป็นบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ MATCHA ซึ่งยังไม่ทราบรายละเอียด แต่อาจจะเข้าร่วมโครงการ)
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง