เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

ไปหาของอร่อยในร้านเก่าแก่ย่านนิงเงียวโจที่มีประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีกัน

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

นิงเงียวโจที่อยู่ในเขตจูโอ กรุงโตเกียวเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ที่นี่มีร้านเก่าแก่ขายนิงเงียวยากิ เหล้าหวาน โอยะโกะด้ง และอื่นๆ มีซุยเท็นกู ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ด้วย ลองแวะไปสถานที่ที่ยังเหลือกลิ่นอายเก่าแก่ด้วยกันเถอะ!

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

นิงเงียวโจ (Ningyocho) เป็นสถานที่แบบไหนกันนะ?

นิงเงียวโจตั้งอยู่เขตจูโอ กรุงโตเกียว

ก่อนยุคสมัยเอโดะ ทั่วทั้งบริเวณนี้เคยเป็นที่ลุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ เพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการคมนาคมที่สะดวก จึงได้มีการถมที่ และสร้างขึ้นมาเป็นเมือง ภายหลังจากนั้น มีการเข้ามาของระบบรัฐบาลโชกุนเอโดะ (บากุฟุ) นิงเงียวโจจึงได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองพาณิชย์

ย่านโคมแดงโยชิวาระซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งสถานเริงรมย์ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลโชกุน ในตอนแรกก็อยู่ในนิงเงียวโจเช่นกัน และคาบุกิ การแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่นก็มีการพัฒนาอย่างสง่างามเพราะความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยสิ่งบันเทิงเริงใจ

ชื่อของ "นิงเงียวโจ" ว่ากันว่ามีที่มาจากการมีนักเชิดหุ่นตุ๊กตาจำนวนมากอาศัยอยู่ที่นี่ เนื่องจากคำว่า "นิงเงียว" แปลว่าตุ๊กตานั่นเอง

ร้านเก่าแก่ที่เรียงร้อยประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีตั้งเรียงรายที่นิงเงียวโจนี้

ประวัติศาสตร์ของนิงเงียวโจมีมายาวนาน จึงมีร้านเก่าแก่ตั้งอยู่มากมาย ในบทความนี้จะพาไปดูตั้งแต่ร้านที่มีชื่อเสียงในนิงเงียวโจ และประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองกัน

ร้านสุกี้ยากี้ไก่ชื่อดัง "ทามะฮิเดะ (Tamahide)" ก่อตั้งมาแล้ว 257 ปี

人形町

"ทามะฮิเดะ" ร้านเฉพาะทางด้านไก่ชน ก่อตั้งขึ้นในปี 1760 เป็นร้านที่ขายเฉพาะอาหารที่ทำจากไก่ชนที่มีชื่อเสียง และมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดในญี่ปุ่น

ยามาดะ เท็ตสึเอะมงซึ่งเป็นรุ่นแรกนั้นเป็นนักเลี้ยงเหยี่ยวในรัฐบาลโชกุนโทคุกาวะซึ่งมีเทคนิคชั้นเลิศในการสับเนื้อไก่แยกออกจากกระดูกโดยไม่ให้เห็นเลือด และแล่เนื้อบางๆ โดยไม่แตะต้องเนื้อ

ร้านในช่วงก่อตั้งแรกๆ ใช้ชื่อว่า "ทามะเท็ตสึ" ซึ่งมีที่มาจากชื่อของเท็ตสึเอะมง แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง จงกลายเป็น "ทามะฮิเดะ" ซึ่ง "ทามะ" หมายถึงชื่อของภรรยาเท็ตสึเอะมงในยุคแรก

人形町

ไก่ชนในทั่วไปหมายถึงไก่ที่นำมาต่อสู้กัน ราคาของไก่ชนที่ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบเกรดสูงที่มีราคาแพงกว่าไก่ทั่วไป 3 - 4 เท่า

ที่ "ทามะฮิเดะ" พิถีพิถันกับวัตถุดิบมาก จนถึงขนาดมีการพัฒนาไก่ชนแบรนด์ที่เรียกว่า "โตเกียวชะโมะ" ให้เข้ากันกับอาหารด้วย มีเสน่ห์ที่โดดเด่นด้วยสัมผัสเนื้อแน่นและความกลมกล่อมเข้มข้น ทำให้มีคนมาเยือนจากหลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย

人形町

หากพูดถึงอาหารขึ้นป้ายของร้าน "ทามะฮิเดะ" คุณยามาดะ โคโนะสุเกะ ผู้สืบทอดรุ่นที่ 8 บอกเราว่าคือสุกี้ยากี้ไก่

สุกี้ยากี้ที่ใช้เนื้อวัว อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม กล่าวกันว่าที่จริงแล้วรูปแบบดั้งเดิมนั้นคือสุกี้ยากี้ไก่ ในปัจจุบัน ร้านที่มีจำหน่ายสุกี้ยากี้ไก่มีเพียง 10 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยที่ "ทามะฮิเดะ" นั้นเป็นผู้บุกเบิก สุกี้ยากี้ไก่เป็นอาหารขึ้นชื่อที่ไม่ว่าใครที่มา "ทามะฮิเดะ" ก็ต้องสั่งทั้งนั้น

人形町

สุกี้ยากี้ไก่มีวิธีรับประทานโดยนำเนื้อไก่ต้มในน้ำซุปจากซอสวะริชิตะ (ซอสที่ทำจากมิรินกับโชยุ) ก่อนจะนำเนื้อไก่นั้นมาจิ้มกับไข่ดิบแล้วรับประทาน เนื้อไก่แน่นคุณภาพดีกับไข่ที่มีรสชาติเข้มข้นเข้ากันรวมกันกลายเป็นอาหารรสเลิศที่สุด

ตอนท้ายสุด ผักหรือเครื่องที่ยังเหลือในหม้อ พนักงานจะผสมกับไข่และราดข้าวให้ นี่คือโอยะโกะด้ง (ข้าวหน้าไก่แม่ลูก) ที่ทุกคนรู้จักกันดี เมนูนี้เป็นเมนูที่โอคามิ (เจ้าของร้านที่เป็นผู้หญิง) รุ่นที่ 5 คิดขึ้น

"นิงเงียวยากิสาขาหลัก อิตาคุระยะ (Ningyoyaki Honpo Itakuraya)" ที่ก่อตั้งมากว่า 110 ปี ผู้ริเริ่มนิงเงียวยากิเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ด

ร้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่มุมนึงของย่านอามะสาเกโยโกะโจก็คือ "อิตาคุระยะ" ร้านขายนิงเงียวยากิ (ขนมอบสอดไส้ทำเป็นรูปร่างตุ๊กตาต่างๆ) ที่มีประวัติการก่อตั้งมานานกว่า 110 ปี

เมื่อได้ยินคนพูดถึงนิงเงียวยากิ คงมีหลายคนนึกถึงนิงเงียวยากิแถววัดเซนโซจิที่อาซากุสะ แต่ที่จริงแล้วแหล่งกำเนิดของนิงเงียวยากิคือที่นิงเงียวโจ และเริ่มแพร่ขยายไปแต่ละแห่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบัน ที่นิงเงียวโจกลับเหรือร้านแค่ 3 ร้านเท่านั้น

หนึ่งใน 3 ร้านนั้นคือ "อิตาคุระยะ" ผู้ริเริ่มทำนิงเงียวยากิเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ด ลักษณะพิเศษของนิงเงียวยากิในนิงเงียวโจนั้นคือการทำออกมาเป็นรูปร่างเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ด ส่วนของที่อื่นๆ จะทำเป็นรูปนกพิราบหรือโคมไฟ ลองเอามาเทียบกันดูก็อาจจะน่าสนใจไม่น้อย

ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1907 นิงเงียวยากิเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ดของ "อิตาคุระยะ" ทำเป็นรูปเทพเต็มตัวมาตลอด แต่ว่าผู้สืบทอดรุ่นที่ 5 มีความคิดอยากทำให้เทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ดมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปแบบที่เหลือเฉพาะแค่ใบหน้าดังปัจจุบัน

หากพูดถึงเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ด ก็จะหมายถึงเทพเจ้า 7 องค์ แต่นิงเงียวยากิของร้านอิตาคุระยะมีใบหน้าเพียง 6 แบบเท่านั้น เหตุผลก็คือทางร้านคิดว่าใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของลูกค้านั่นเองที่จะเป็นใบหน้าที่่ 7

นอกจากนิงเงียวยากิไส้ถั่วแดงอังโกะแล้ว ยังมี "เซ็นโจยากิ" ที่ไม่มีไส้ถั่วแดงด้วย รูปแบบนี้มีที่มาจากในสมัยสงครามระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่นที่น้ำตาลขาดแคลน จึงทำได้แค่ตัวขนมคาสเทล่าเท่านั้น ส่วนรูปร่างจึงทำเลียนแบบรถถังและเครื่องบิน

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 110 ปีแล้ว นิงเงียวยากิของอิตาคุระยะยังคงทำขึ้นด้วยมือทีละชิ้นๆ โดยเริ่มเตรียมการตั้งแต่ตี 4 ของทุกวัน ภายในร้านที่มีไอร้อนระอุอยู่ เทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ดซึ่งเต็มไปด้วยรอยยิ้มนั้นถูกทำขึ้นด้วยหัวใจ

"ฟุทาบะ (Futaba)" ที่ก่อตั้งมา 110 ปี การผสานที่สมบูรณ์ของเต้าหู้และเหล้าหวาน

ร้าน "อิตาคุระยะ" เริ่มทำนิงเงียวยากิเวลาตี 4 ของทุกเช้า แต่ร้าน "ฟุทาบะ" ในย่านอามะสาเกโยโกะโจเริ่มเตรียมในเวลาที่เช้ากว่านั้นเสียอีก

"ฟุทาบะ" เป็นร้านเก่าแก่ที่ขายอามะสาเก (เหล้าหวาน) ชื่อดังในย่านอามะสาเกโยโกะโจ ก่อตั้งในปี 1907 แต่จริงๆ แล้วเคยทำเต้าหู้ขายมาก่อนในช่วงแรก

แล้วทำไมถึงมาเริ่มขายเหล้าหวานกันล่ะ?

ชื่อของย่านอามะสาเกโยโกะโจ มีที่มาจากเมื่อครั้งอดีต ในละแวกนี้มีร้านขายเหล้าหวานโดยเฉพาะอยู่เพียงร้านเดียวเท่านั้น ภายหลังเมื่อร้านนั้นหายไป แต่ยังมีลูกค้าที่มาหาเหล้าหวานอยู่จำนวนมาก ผู้สืบทอด "ฟุทาบะ" รุ่นที่ 3 จึงออกความคิดว่า "เพราะงั้นก็ทำเหล้าหวานขายกันเถอะ!"

จึงกลายเป็นร้านขายเหล้าหวานชื่อดัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอามะสาเกโยโกะโจในเวลาต่อมา

เหล้าหวานของที่นี่ทำใหม่ทุกวันจึงมีรสชาติสดใหม่ ไม่มีการทำค้างคืนไว้ มี 2 แบบคือร้อนกับเย็น เหล้าหวานแบบร้อนจะให้รสชาติหวานและกลิ่นที่ลุ่มลึกทีเดียว

หากอยากลิ้รสเหล้าหวานในฤดูร้อน แนะนำให้ทาน "ซอฟต์ครีมเหล้าหวาน" เป็นรสชาติที่ผสมผสานกันระหว่างน้ำเต้าหู้กับเหล้าหวาน ต้องลองดูให้ได้นะคะ

สินค้าจำพวกเต้าหู้ที่ทำด้วยมือของที่นี่ก็ห้ามพลาดเช่นเดียวกัน!

สิ่งที่แนะนำเป็นอันดับหนึ่งของร้านคือกัมโมะโดขิ (เต้าหู้บดผสมผักนำไปทอด) ขนาดใหญ่พิเศษกับโดนัทนมถั่วเหลือง กัมโมะโดขิมีเครื่องเยอะ โดนัทนมถั่วเหลืองก็มีรสชาติสดชื่นเป็นความอร่อยที่ไม่น่าเบื่อ นั่งรับประทานตรงม้านั่งหน้าร้านก็ได้นะ

"คิสสะโกะ ไคเซเค็น (Kissako Kaiseiken)" ที่ก่อตั้งครบ 100 ปีในอีกไม่ช้า

"คิสสะโกะ ไคเซเค็น" เป็นร้านกาแฟที่มีประวัติศาสตร์ขับเคี่ยวเป็นอันดับหนึ่งหรือสองของญี่ปุ่นเลยทีเดียว ก่อตั้งเมื่อปี 1919 ในปัจจุบันดูแลต่อด้วยผู้สืบทอดรุ่นที่ 4

ภายในร้านมีเก้าอี้หนังสีแดงที่คุ้นเคยสำหรับร้านกาแฟแบบเก่าๆ วางเรียงไว้อย่างสวยงาม บริเวณเคาน์เตอร์มีเครื่องบดกาแฟที่ทำงานอย่างไม่หยุดพักมาตลอด 50 ปีวางไว้ ภายในร้านที่หอมหวลไปด้วยกลิ่นกาแฟ ราวกับเวลากำลังหยุดนิ่ง

ที่นี่เป็นฉากที่สำคัญในละครทีวีญี่ปุ่นยอดนิยมเรื่อง "Shinzanmono" เรียกว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามรอยละครก็ว่าได้

"คิสสะโกะ" ชื่อร้านเป็นคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา มีนัยแฝงถึงการกำจัดความคิดฟุ้งซ่านของผู้ที่มาเยือนร้านด้วยชาที่เสิร์ฟ และต้องการให้ทุกคนได้สัมผัสถึงรสชาติและนิกายเซ็นด้วย

คนที่ไปขอพรให้คลอดลูกปลอดภัยที่ศาลเจ้าซุยเท็นกูก็มาที่นี่จำนวนมาก เพราะในคำว่า "ไคเซเค็น" มีความหมายถึงการขอให้คลอดลูกอย่างปลอดภัยด้วยนั่นเอง

อาหารมีแค่ขนมปังปิ้งกับเค้กเท่านั้น เมนูแนะนำคือชุดขนมปังแฮนด์เมดจาก "เพริคัง" ร้านขนมปังขึ้นชื่อในอาซากุสะนำไปปิ้งเสิร์ฟคู่กับกาแฟ

ลองละเลียดกาแฟที่มีรสชาติเข้มข้นกับขนมปังปิ้งเนื้อนุ่มดูไหม

ร้าน "เทะนุกุอิโนะจิโดริยะ (Tenugui no Chidoriya)" กับผ้าเช็ดมือที่มีประวัติศาสตร์ 1000 ปี

"เทะนุกุอิโนะจิโดริยะ" เป็นร้านที่แตกต่างจากร้านเก่าแก่อื่นๆ ที่แนะนำมาทั้งหมด เพราะเพิ่งเปิดกิจการมาได้เพียง 10 ปี เท่านั้น แต่ว่าสินค้าที่จำหน่ายคือผ้าเช็ดมือที่มีประวัติศาสตร์เกินกว่า 1000 ปี

ภายในร้านเล็กๆ มีผ้าเช็ดมือกว่า 1,500 แบบวางเรียงราย ผ้าเช็ดมือที่มีลวดลายทั้งสองด้านจากความพิถีพิถันของเจ้าของร้านมีขายครบครัน

ภายในร้านมีตะกร้าเล็กๆ ที่ทำจากกระดาษวางอยู่ด้วย ให้เอาผ้าเช็ดมือที่เลือกซื้อใส่ตะกร้านี้แล้วนำไปชำระเงินที่แคชเชียร์ การประยุกต์แบบนี้ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศย้อนยุคที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของนิงเงียวโจ

สินค้าออริจินัลก็มีจำหน่ายเช่นกัน ที่น่าสนใจที่สุดก็คือผ้าเช็ดมือที่เลียนแบบธงสงคราม ซึ่งมีรูปตราประจำตระกูลของผู้บัญชาการทหารในยุคเซ็นโกขุ เป็นเซ็นโกขุบุโชซีรี่ส์ด้วย สำหรับคนที่ชื่นชอบยุคเซ็นโกขุต้องมาลองดูสินค้าให้ได้เลย!

เนื่องจากการหมุนเวียนสินค้ารวดเร็วมาก หากไม่เจอสินค้าที่มองหาในร้านล่ะก็ ให้ดูที่นี่ Online Shop แม้อยู่ต่างประเทศก็สามารถซื้อได้นะ

ซุยเท็นกู (Suitengu) : ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ขอพรเรื่องการคลอดบุตร

ตอนที่แวะเวียนไปตามร้านชื่อดังต่างๆ ที่แนะนำไปข้างต้น อีกที่ที่อยากให้ลองไปก็คือซุยเท็นกู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนิงเงียวโจ ที่นี่เป็นศาลเจ้าที่มีคนนิยมมาขอให้คลอดบุตรอย่างปลอดภัย

เอะมะ (ป้ายไม้ขอพร) ของซุยเท็นกูดีไซน์จากรูปปั้นของสุนัขแม่ลูกที่อยู่ในวัดให้น่ารักขึ้น นำไปเป็นของฝากก็ยังได้

เดินทางแสนสะดวก! ติดกับ Bus Terminal T-CAT ไปกลับได้จากสนามบิน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ รู้สึกมีความสนใจนิงเงียวโจมากขึ้นไหมคะ?

การเดินทางไปนิงเงียวโจสะดวกมากๆ จากสถานีนิงเงียวโจ (Ningyo-cho) มีรถไฟใต้ดินที่ไปสนามบินฮาเนดะกับสนามบินนาริตะผ่าน นอกจากนั้นใกล้ๆ กันยังมี "Tokyo CityssAir Terminal" ซึ่งเป็น Bus Terminal สำหรับนั่งรถบัสตรงไปสนามบินทั้งสองแห่งอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น ก็ยังมีโรงแรมที่เชื่อมต่อกับ Bus Terminal โดยตรง แถมละแวกใกล้เคียงยังมีโรงแรมใหม่ๆ เยอะขึ้น จึงอยากแนะนำให้เริ่มต้นการเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่นิงเงียวโจ หรือให้นิงเงียวโจเป็นเป้าหมายสุดท้ายก่อนจะจากญี่ปุ่นไปก็ได้นะ!

ที่นิงเงียวโจมีการจัดงานอีเวนท์เดินเล่นในเมืองด้วย ลองเข้าไปดูข้อมูลใน Facebook นี้ดูนะ!

รายละเอียดการเดินเล่นในเมืองดูที่นี่ : https://www.facebook.com/groups/1429671203820862/

อ่านเพิ่มเติม :


Hats Off To The Karakuri Yagura In Ningyocho, Tokyo

ใช้ยังไงให้คุ้ม? ตารางแนะนำตั๋วโดยสาร 1 วันสำหรับเที่ยวโตเกียว!

Sponsored by Chu-o District Committee, TOKYO-JC

Written by

東京に出てきて8年目です。

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ