เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

ไกด์แนะนำอุด้งแบบจัดเต็ม! วิธีทาน ประเภท ราคา และร้านแนะนำ

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

บทความแนะนำ “อุด้ง” เมนูเส้นยอดนิยมพอๆกับโซบะ โดยเป็นเมนูที่สามารถเพลิดเพลินได้ทุกเพศทุกวัยและทุกฤดูกาล ในครั้งนี้เราจะมาแนะนำวิธีทานอุด้ง ประเภทของอุด้ง และร้านที่สามารถทานอุด้งได้ในราคาไม่แพงกันค่ะ

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

อุด้ง

อุด้ง」คือ เมนูเส้นจากแป้งสาลีในน้ำซุปดาชิสไตล์ญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันมาตั้งแต่ในสมัยก่อน

เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นก็มีวิธีการทำ, วัตถุดิบที่ใช้ และการปรุงรสแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ถึงแม้ว่าเส้นจะมีรสชาติเรียบง่ายธรรมดาๆ แต่เราก็สามารถเพลิดเพลินกับรสชาติและคอมโบที่หลากหลายได้เหมือนกัน

อุด้งเป็นเมนูที่รับประทานกันในครัวเรือนทั่วไป แถมยังสามารถหาทานได้ตามร้านอุด้งและร้านอาหารครอบครัวด้วย โดยนับเป็นเมนูที่สามารถหาทานได้ง่ายมากทั่วญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารญี่ปุ่นอื่นๆ เมื่อเอ่ยถึงร้านอุด้งขึ้นชื่อก็ต้องยกให้ “Hanamaru Udon (ฮานามารุอุด้ง)” และ “Marugame Seimen (มารุกาเมะเซเมน)” ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟ, ภายในสถานีรถไฟ และติดกับย่านที่อยู่อาศัย ไม่ว่าคนญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติจึงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน

สารบัญ:

1. ประวัติความเป็นมาของอุด้ง
2. วิธีการรับประทานอุด้ง
3. ประเภทของอุด้ง
4. อุด้งท้องถิ่น
5. ร้านอุด้งและราคา

ประวัติความเป็นมาของอุด้ง

ว่ากันว่าอุด้งมีต้นกำเนิดมาจาก ประเทศจีนโบราณ

ช่วงที่เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นใหม่ๆว่ากันว่ามีลักษณะเหมือนกับดังโกะบด ส่วนอุด้งชนิดเส้นเรียวยาวในน้ำซุปดาชิรสโชยุอย่างปัจจุบันนั้นมีต้นกำเนิดใน สมัยเอโดะ เพราะว่าในสมัยเอโดะนั้นมีการพัฒนาเมนูอาหารที่ใช้น้ำซุปดาชิปลาโอแห้งขึ้นมามากมาย หลังผ่าน สมัยเซ็งโกคุ อันแสนวุ่นวายก็ตามมาด้วยสมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองเงียบสงบไร้สงคราม จึงอาจมีเวลาในการพัฒนาวัฒนธรรมด้านอาหารมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ถึงแม้ว่าแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอาหารในดวงใจของคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่ในสมัยก่อนไม่เปลี่ยนแปลง

วิธีการรับประทานอุด้ง

เส้นอุด้งจะผ่านกระบวนการต้มด้วยน้ำร้อนในหม้อจนเดือด ตอนเสิร์ฟคาเคะอุด้งโดยทั่วไปมักจะใช้ชามหรือจาน ส่วนซารุอุด้งนิยมใช้กระด้งที่สามารถกรองน้ำออกได้ แต่บางร้านก็ใช้เป็นหม้อหรือภาชนะไม้แทน โดยเราสามารถเพลิดเพลินได้ทั้งในรูปแบบอุด้งร้อนที่รับประทานพร้อมน้ำซุปร้อนๆและอุด้งเย็นที่กรองน้ำออกก่อนนำไปแช่เย็น

วิธีการรับประทานอุด้งร้อน

ในกรณีที่เป็นคาเคะอุด้งราดทสึยุร้อนๆในชาม เราสามารถใช้ตะเกียบคีบเส้นรับประทานได้เลย ใครอยากจิบทสึยุจากชามโดยตรงเลยก็ได้ แต่เนื่องจากร้านส่วนใหญ่มักเตรียมช้อนตักน้ำซุปเอาไว้ให้ด้วย เราจึงสามารถทานน้ำซุปได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่ ผักและเครื่องเทศ อย่างพริก, ขิง หรือต้นหอมได้ตามใจชอบเลยจ้า...

แต่อุด้งร้อนมีข้อควรระวังอยู่ 1 ข้อก็คือถ้าเกิดปล่อยทิ้งไว้นานๆไม่ทานให้หมด เส้นจะอืดและทำให้เสียรสชาติ

วิธีการรับประทานซารุอุด้ง

เราเรียกเมนูเส้นต้มแช่น้ำเย็นและจัดเสิร์ฟมาในกระด้งว่า “ซารุอุด้ง” โดยเป็นอุด้งที่มีระดับอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิปกติ

เมนูนี้เราจะคีบเส้นจิ้มลงในทสึเคทสึยุที่เสิร์ฟแยกมาในถ้วยเล็กรับประทาน ก่อนอื่นก็ลองจุ่มเส้นลงในทสึยุอย่างลวกๆดูก่อน เนื่องจากแต่ละร้านก็มีระดับความเข้มข้นของทสึยุแตกต่างกันออกไป ถ้าเกิดลองชิมดูแล้วรู้สึกว่าเค็มไปให้เปลี่ยนวิธีการรับประทานเป็นจุ่มเส้นเพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าเกิดรู้สึกว่ารสชาติเบาบางไปหน่อยก็สามารถผสมเส้นเข้ากับทสึยุได้เลย

ในตอนแรกขอแนะนำให้รับประทานอุด้งคู่กับทสึยุแบบธรรมดาก่อนแล้วค่อยลองใส่ต้นหอม ขิง หรือพริกผสมเข้ากับทสึยุรับประทานดูอีกรอบ

วิธีการรับประทานอุด้งเย็น

นอกจากนี้ก็ยังมีอุด้งเย็นที่เรียกกันว่า “บุคคาเคะ” ด้วย โดยเป็นอุด้งที่เสิร์ฟทั้งเส้นอุด้ง วัตถุดิบ และทสึยุเย็นมาในชามเดียวกัน สำหรับอุด้งเย็นขอแนะนำให้ผสมทสึยุ วัตถุดิบ และเส้นอุด้งเข้าด้วยกันจนได้ที่ก่อนแล้วค่อยรับประทาน นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่ผักและเครื่องเทศที่ทางร้านเตรียมเอาไว้ให้อย่างพริกหรืองาได้ตามใจชอบอีกด้วย

ผักและเครื่องเทศ

ผักและเครื่องเทศที่นิยมใช้ปรุงรสอุด้งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น ต้นหอม, สาหร่ายเส้น และ พริก (อิจิมิและชิจิมิ) นอกจากนี้ บางร้านก็มีการจัดเตรียมเตรียมวัตถุดิบอย่างพวกขิง, งา หรือเศษเทมปุระเอาไว้ให้ด้วย ก่อนอื่นให้ลองวัตถุดิบเพื่อสุขภาพอย่างต้นหอมหรือพริกเพื่อค้นหารสชาติที่ถูกใจกันดูเนอะ

สูตรการทำอุด้ง

เส้นอุด้งทำโดยการนวดแป้งสาลี รีดให้เป็นแผ่นเรียบ และตัดเป็นเส้น

เนื่องจากเส้นอุด้งโดยทั่วไปจะมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบเส้นอัดแข็งเหมือนพาสต้าและเส้นสดที่ต้มน้ำร้อนมาให้นิดๆอยู่แล้ว เราจึงสามารถทำอุด้งทานกันในครอบครัวได้อย่างง่ายดาย

ก่อนอื่นให้ต้มเส้นอุด้งในน้ำร้อนปริมาณมาก เส้นสดต้มเพียง 1 – 2 นาที ส่วนเส้นอัดแข็งต้มประมาณ 4 – 5 นาที สำหรับทสึยุทำโดยใส่โชยุและมิรินลงไปในน้ำซุปดาชิที่สกัดมาจากสาหร่ายคอมบุ ปลาโอแห้ง หรือปลานิโบชิ แต่เนื่องจากเมนทสึยุมีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาดอยู่แล้ว เราจึงสามารถซื้อมาใช้แทนกันได้เลยไม่ต้องเสียเวลา เมื่อเตรียมทั้งเส้นและทสึยุใส่ในภาชนะเดียวกันเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่โรยหน้าด้วยท็อปปิ้งผัก เครื่องเทศ หรือวัตถุดิบที่ชอบก็ถือเป็นอันเสร็จ

ในกรณีที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในญี่ปุ่นมีจำหน่ายแพ็คอุด้งที่มีทั้งเส้นและทสึยุแบบผงมาเป็นเซ็ตเดียวกันด้วย จึงบอกเลยว่าเหมาะสำหรับซื้อกลับไปเป็นของฝากสุดๆ

ประเภทของอุด้ง

ถึงแม้ว่าจะเรียกโดยรวมว่า “อุด้ง” แต่ความจริงแล้วมีหลากหลายประเภทเชียวล่ะค่ะ เนื่องจากเมนูและวิธีเรียกจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นอุด้งร้อนหรืออุด้งเย็นและใส่วัตถุดิบอะไร ถึงแม้ว่าจะใช้เส้นแบบเดียวกันก็ตาม เดี๋ยวเรามาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้างค่ะ ^^

<อุด้งร้อน>

ก่อนอื่น เรามาแนะนำเมนูและวิธีการรับประทานอุด้งร้อนกันก่อนดีกว่า โดยเป็นเมนูที่สามารถเพลิดเพลินได้ตลอดทั้งปี

คาเคะอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งราดทสึยุร้อนที่เสิร์ฟมาในชามเดียวกันว่า “คาเคะอุด้ง” โดยเฉพาะใน ภูมิภาคคันโต นั้นจะไม่เรียกเมนูที่ใส่วัตถุดิบอื่นนอกจาก ผักและเครื่องเทศ ว่า “คาเคะอุด้ง” เลย ส่วนญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก (ยกเว้นจ.คากาวะ) เรียกกันว่า “ซุอุด้ง” โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่ส่วนใหญ่มักจะใส่วัตถุดิบอย่างสาหร่ายคอมบุฝานและลูกชิ้นปลาคามาโบโกะแล่บาง เป็นต้น

เทมปุระอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่ใส่ท็อปปิ้งเป็นเทมปุระหรือคาคิอาเกะ (เทมปุระรวมมิตรวัตถุดิบ เช่น ผัก) ว่า “เทมปุระอุด้ง” โดยทั่วไปแล้วตามร้านโซบะส่วนใหญ่จะให้ท็อปปิ้งเป็นเทมปุระกุ้ง ส่วนร้านแบบยืนกินส่วนใหญ่จะให้เป็นคาคิอาเกะตราบใดที่ทางร้านไม่ได้มีการระบุประเภทของเทมปุระเอาไว้อย่างชัดเจน บางครั้งคนญี่ปุ่นก็เรียกอุด้งที่ใช้ท็อปปิ้งเป็นคาคิอาเกะว่า “คาคิอาเกะอุด้ง” ตามร้านแบบยืนกินใน ภูมิภาคคันไซ ส่วนใหญ่มักจะเตรียมเทมปุระเอาไว้ทั้ง 2 แบบก็คือ “เทมปุระ” ที่แทบไม่ใส่วัตถุดิบอะไรเลยและ “คาคิอาเกะ” ผักล้วน โดยเราสามารถเลือกได้อย่างอิสระตามความชอบ นอกจากนี้ บางท้องถิ่นก็ยังเรียกเมนูอุด้งที่ใช้ท็อปปิ้งเป็นสัทซึมะอาเกะว่า “เทมปุระอุด้ง” ด้วย

คามาอาเกะอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำต้มเส้นในชามเดียวกันซึ่งรับประทานโดยจุ่มเส้นกับทสึยุหรือราดด้วยโชยุสด (โชยุที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน) ว่า “คามาอาเกะอุด้ง”

คามาทามะอุด้ง

เราเรียกเมนูคามาอาเกะอุด้งที่ใส่ไข่ดิบเอาไว้ด้านบนว่า “คามาทามะอุด้ง” ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่มีน้ำน้อยนี่แหละ โดยนิยมปรุงรสกับทสึยุหรือโชยุสดรับประทาน เมนูที่ได้รสชาติกลมกล่อมของไข่ดิบนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้หญิงสุดๆ

ทานูกิอุด้ง

“ทานูกิอุด้ง” มีมากมายหลากหลายแบบตามแต่ละท้องถิ่น แถบคันโตใช้เรียกอุด้งที่โรยหน้าด้วยเศษเทมปุระ ส่วนในเกียวโตใช้เรียกอุด้งที่ใส่ท็อปปิ้งเป็นแผ่นเต้าหู้ทอดสไลซ์บาง ราดซอสคุสึ และโรยหน้าด้วยขิงฝาน นอกจากนี้ ในคานาซาว่าเรียกกันว่า “อินาริอันคาเคะอุด้ง”

คิทสึเนะอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่ใส่ท็อปปิ้งเป็นแผ่นเต้าหู้หวานทอดว่า “คิทสึเนะอุด้ง” บางท้องถิ่นก็เรียกกันว่า “เค็ทสึเนะ” และ “ชิโนดะ” โดยเฉพาะในภูมิภาคคันไซเนื่องจากมีภาพลักษณ์ว่า “คิทสึเนะ = อุด้งใส่แผ่นเต้าหู้ทอด” โดยทั่วไปแล้วจึงไม่ค่อยเรียกกันว่า “คิทสึเนะอุด้ง” เท่าไหร่นัก

ทสึคิมิอุด้ง

เราเรียกเมนูคาเคะอุด้งใส่ไข่ดิบว่า “ทสึคิมิอุด้ง” “ทสึคิมิ” หมายถึง “การชมจันทร์” เนื่องจากคนญี่ปุ่นเปรียบเทียบไข่ขาวเป็นหมอกที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าและเปรียบเทียบไข่แดงเป็นพระจันทร์ จึงเรียกกันว่า “ทสึคิมิ” นั่นเอง บางท้องถิ่นก็มีการใส่แผ่นสาหร่ายโดยเปรียบเทียบเป็นท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยนะเออ... จึงขอแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบเลยค่ะ ^^

คาเรอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่ใส่ผงแกงกะหรี่ลงในซุปดาชิ, อุด้งที่ใช้แกงกะหรี่สไตล์ญี่ปุ่นผสมซุปดาชิเป็นทสึยุ และอุด้งราดแกงกะหรี่สำหรับทำข้าวหน้าแกงกะหรี่และเมนทสึยุร้อนว่า “คาเรอุด้ง” โดยได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆเป็นอย่างมาก

จิคาระอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งใส่โมจิว่า “จิคาระอุด้ง” โดยปกติแล้วมักจะผสมวัตถุดิบอื่นๆลงไปด้วยซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ท็อปปิ้งเป็นโมจิย่าง

นาเบะยากิอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งต้มในหม้อดินว่า “นาเบะยากิอุด้ง” โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่การใช้วัตถุดิบหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเทมปุระ, ไข่, คามาโบโกะ, เนื้อไก่ และผักนี่แหละ โดยเฉพาะในฤดูหนาวนั้นได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ

ซันไซอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่รับประทานคู่กับพืชป่า เช่น เห็ดเข็มทองและเฟิร์นว่า “ซันไซอุด้ง” ถึงแม้ว่าจะมีรสชาติเรียบง่าย แต่ถ้าเกิดใส่ผักและเครื่องเทศลงไปด้วยจะกลายเป็นเมนูที่สามารถเพลิดเพลินกับกลิ่นหอมของผักและเครื่องเทศได้ในชามเดียวเลยล่ะค่ะ

เคนจินอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งที่มาเสิร์ฟใน “น้ำซุปเคนจิน” แกงจืดที่ทำโดยการผัดหัวไชเท้า, แครอท, โกโบ, เผือก, คอนยาคุ และเต้าหู้ด้วยน้ำมันงา ใส่น้ำซุปดาชิ นำไปต้ม และปรุงรสด้วยโชยุว่า “เคนจินอุด้ง” โดยเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในฤดูหนาว

ยากิอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งผัดว่า “ยากิอุด้ง” โดยมีวิธีการปรุงรสหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นการใช้ซุปดาชิโชยุหรือซุปดาชิซอส

นอกจากนี้ อุด้งร้อนก็ยังมีเมนูอีกมากมายขึ้นอยู่กับร้านและท้องถิ่น เช่น “โทโรโระอุด้ง” อุด้งราดมันบดและ “วากาเมะอุด้ง” อุด้งโรยหน้าด้วยสาหร่ายวากาเมะจากทะเล เป็นต้น ถ้าเกิดใครมีโอกาสได้เข้าร้านอุด้งก็อย่าลืมลองเช็คกันดูนะคะ

<อุด้งเย็น>

ส่วนอุด้งเย็นนั้นทำโดยการนำเส้นอุด้งต้มสดใหม่มาแช่น้ำเย็นก่อนรับประทาน โดยขอแนะนำสำหรับใครที่ชื่นชอบอุด้งรสชาติเบาๆทานง่ายเลยค่ะ เพราะว่ามีอุด้งเย็นแนวนี้เยอะม๊ากกก :3

ซารุอุด้ง

เราเรียกเมนูอุด้งต้มแช่น้ำเย็นและจัดเสิร์ฟมาในกระด้งว่า “ซารุอุด้ง” โดยทั่วไปแล้วนิยมจิ้มเส้นกับทสึยุที่เสิร์ฟแยกมาในถ้วยขนาดเล็กรับประทาน

โอโรชิโชยุอุด้ง

“โอโรชิโชยุอุด้ง” เป็นเมนูอุด้งเส้นเปล่าชั้นเลิศที่มีวิธีการรับประทานอันแสนเรียบง่าย แต่ความอร่อยของเส้นอุด้งบอกเลยว่าโดดเด่นมาก เมนูนี้ทำโดยการใส่ต้นหอมและหัวไชเท้าฝานและราดด้วยโชยุสูตรพิเศษลงบนเส้นอุด้งต้มสดใหม่

ซาราดะอุด้ง

“ซาราดะอุด้ง” คือ เมนูอุด้งเย็นโรยหน้าด้วยผัก ไข่ ทูน่า หรือเนื้อสัตว์ตามความชอบและราดทสึยุ โดยเราสามารถเพลิดเพลินกับความหลากหลายทั้งสไตล์ญี่ปุ่น ตะวันตก หรือจีนได้ตามทสึยุและวัตถุดิบโรยหน้า

อุด้งท้องถิ่น

ในประเทศที่ชื่นชอบการรับประทานอุด้งอย่างญี่ปุ่นแห่งนี้เต็มไปด้วยอุด้งท้องถิ่นที่ทำมาจากวัตถุดิบท้องถิ่นหรือมีวิธีการรับประทานเฉพาะตามแบบท้องถิ่นมากมาย เดี๋ยวเราจะมาแนะนำเมนูอุด้งท้องถิ่นขึ้นชื่อบางส่วนกันค่ะ ถ้าเพื่อนๆจะมาตามรอยเมนูอุด้งทางเว็บไซต์ MATCHA ก็ไม่สงวนสิทธิ์น้า ฮี่ฮี่~

ซานูกิอุด้ง (จ.คากาวะ)

จ.คากาวะแห่งนี้โดดเด่นเรื่องปริมาณการบริโภคอุด้งต่อคนเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น โดยเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมอาหารฝังรากลึกถึงขนาดเรียกกันว่าเป็น “จังหวัดแห่งอุด้ง” เลยทีเดียว อุด้งที่รับประทานกันในจ.คากาวะเรียกว่า「ซานูกิอุด้ง」โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่รสสัมผัสลื่นปรื๊ดๆนี่แหละ ส่วนท็อปปิ้งและวิธีการรับประทานมีมากมายหลากหลายแบบ

อินานิวะอุด้ง (จ.อาคิตะ)

“อินานิวะอุด้ง” คือ เมนูอุด้งเส้นแข็งที่ผ่านกระบวนการนวดด้วยมือ โดยรับประทานกันทางตอนใต้ของจ.อาคิตะ อินานิวะอุด้งเป็นเมนูขึ้นชื่อที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 3 อุด้งของญี่ปุ่นเลยทีเดียว โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่มีเส้นเรียวบางทานง่ายแตกต่างจากเส้นแบบอื่นๆ

อิเสะอุด้ง (จ.มิเอะ)

“อิเสะอุด้ง” คือ เมนูอุด้งเส้นอวบนุ่มราดซอสสีดำรสชาติเข้มข้นที่รับประทานกันในแถบเมืองอิเสะ จ.มิเอะ โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่ไม่มีความหยุ่นแตกต่างจากเส้นอุด้งที่รับประทานกันทั่วไปนี่แหละ นอกจากนี้ เส้นก็ยังอวบหนาเคี้ยวมันอีกด้วย เราสามารถหาทานได้อย่างง่ายดายตาม Monzen-yokocho ตอนที่เดินทางมากราบไหว้สักการะวัดและศาลเจ้าในอิเสะ แถมยังมีจำหน่ายเป็นแพ็คสุญญากาศสำหรับใครที่ต้องการซื้อกลับไปทานกับครอบครัวอีกด้วย

มิสึซาวะอุด้ง (จ.กุมมะ)

“มิสึซาวะอุด้ง” คือ เมนูอุด้งท้องถิ่นที่รับประทานกันในมิสึซาวะ อิคาโฮะ เมืองชิบุกาวะ จ.กุมมะ เนื่องจากเป็นเส้นอุด้งที่ผ่านกรรมวิธีการนวดแป้งและรอจนฟู จึงมีเอกลักษณ์อยู่ที่รสสัมผัสหนึบหนับเด้งดึ๋งนี่แหละ โดยเป็นของฝากยอดนิยมที่มีความหลากหลายทั้งเส้นแบบแข็งและเส้นสด

คิชิเมน (จ.ไอจิ)

เราเรียกเมนูอุด้งเส้นแบนดูจืดชืดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นอุด้งทั่วไปว่า “คิชิเมน” แต่ในกรณีที่เป็น “นาโงย่าคิชิเมน” ซึ่งถือเป็นของขึ้นชื่อประจำเมืองนาโงย่านั้นจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งด้านถิ่นผลิตและกระบวนการผลิตด้วย โดยทั่วไปแล้วมักจะใส่ท็อปปิ้งเป็นคามาโบโกะลงในทสึยุรสโชยุ

นอกจากนี้ก็ยังมีอุด้งท้องถิ่นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น คินจาคุคิทสึเนะอุด้ง (จ.นารา), ตาไรอุด้ง (จ.โทคุชิม่า), ฮิปปาริอุด้ง (จ.ยามากาตะ) และ ฮิโมกาวะอุด้ง (จ.กุมมะ) เป็นต้น จึงขอแนะนำให้เพื่อนๆลองตามล่าหาอุด้งท้องถิ่นเพื่อชิมเปรียบเทียบรสชาติกันดูเลยค่ะ ^^

แถมยังมีอุด้งที่มีรูปร่างหน้าตาและวิธีการรับประทานสุดแปลกแตกต่างจากอุด้งทั่วไปด้วยนะเออ... ถ้าเกิดใครสนใจก็บอกเลยว่าห้ามพลาดจ้า...

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

รู้หรือยัง? เกร็ดความรู้เรื่องความแตกต่างและชนิดของโซบะกับอุด้ง
กินอุด้งจากกาน้ำร้อน?「ซึโบระอุด้ง」จากร้านอากะโจโคะเบะ ที่ฮากาตะ
ไกด์แนะนำอุด้งแบบจัดเต็ม! วิธีทาน ประเภท ราคา และร้านแนะนำ

ร้านอุด้งและราคา

เนื่องจากอุด้งเป็นเมนูยอดนิยมพอๆกับโซบะ เราจึงสามารถหาทานได้อย่างง่ายดายตามร้านอุด้ง ร้านอาหารครอบครัว รวมถึงร้านโซบะด้วย แต่สำหรับใครที่กำลังมองหาเมนูอุด้งสุดแปลกแตกต่างจากเมนูทั่วไปก็ขอแนะนำให้เข้าร้านอุด้งโดยเฉพาะเลยค่ะ

ส่วนข้อควรระวังก็อยู่ที่วิธีการสั่งอาหารนี่แหละ เพราะว่าบางร้านก็ไม่ได้สั่งอาหารที่โต๊ะ แต่ว่าต้องยกถาดไปที่เคาน์เตอร์เมื่อต้องการสั่งอาหาร ร้านอาหารประเภทนี้จำเป็นต้องเข้าแถว เลือกเมนูเครื่องเคียงที่ต้องการ และสุดท้ายก็ไปสั่งอาหารและจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน ตอนแรกหลายคนอาจจะงง แต่ถ้าเกิดสังเกตจากลูกค้าข้างหน้าก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากน้า :3

นอกจากนี้ก็ยังมีร้านสไตล์ที่ต้องซื้อตั๋วอาหารจากตู้จำหน่ายตั๋วอาหารและนำไปยื่นให้กับพนักงานร้านด้วย วิธีนี้ก็สามารถสังเกตพฤติกรรมจากลูกค้าข้างหน้าได้เหมือนกัน หรือว่าจะสอบถามจากพนักงานโดยตรงเลยก็ได้

ส่วนราคาอุด้งนั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับร้านและท็อปปิ้งที่ใส่

ตามร้านแฟรนไชส์อุด้งราคาถูกจะตกอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 เยน / ชาม ส่วนร้านอุด้งเฉพาะจะอยู่ที่ประมาณ 600 – 1,000 เยน ในกรณีที่เป็นร้านระดับหรูส่วนใหญ่ราคาจะสูงขึ้นไปถึง 1,000 – 2,000 เยนเลยทีเดียว

ราคาอุด้งตามร้านอาหารทั่วไปมีดังต่อไปนี้

คาเคะอุด้ง:300〜800 เยน
ซารุอุด้ง:300~800 เยน
เทมปุระอุด้ง:500〜1,000 เยน
ท็อปปิ้ง เช่น เทมปุระ:ประมาณ 70 – 150 เยน / ชิ้น

ร้านแฟรนไชส์อุด้ง

Marugame Seimen (มารุกาเมะเซเมน)

Marugame Seimen (มารุกาเมะเซเมน) คือ ร้านอุด้งที่มีสาขามากมายทั่วญี่ปุ่นภายใต้แนวคิดสุดพิถีพิถันที่ต้องการเสิร์ฟอุด้ง “รสชาติสดใหม่” จากหม้อ โดยทุกสาขาจะมีการตั้งเครื่องทำเส้นอุด้งเอาไว้เพื่อผลิต “เส้นอุด้งสดใหม่” จากแป้งสาลี สิ่งเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ที่เจ้าของมารุกาเมะเซเมนได้เรียนรู้มาจากโรงงานผลิตเส้นราเม็งใน “คากาวะ” ต้นตำรับแห่งซานูกิอุด้ง

อุด้งที่ต้มสดใหม่ร้อนๆจะมีรสสัมผัส「นุ่มลื่นหนึบหนับ」มารุกาเมะเซเมนแห่งนี้มีเอกลักษณ์อยู่ที่การได้ฟังเสียงไอน้ำที่ลอยฟุ้งขึ้นมาจากหม้อตรงหน้าท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักนี่แหละ ส่วนท็อปปิ้งยอดนิยมก็ต้องยกให้ “คาชิวาเทน” (เทมปุระไก่) กรอบอร่อยเลยค่ะ

เว็บไซต์หลัก:http://www.marugame-seimen.com/

Hanamaru Udon (ฮานามารุอุด้ง)

Hanamaru Udon (ฮานามารุอุด้ง) คือ ร้านที่สามารถหาทาน “ซานูกิอุด้ง” อุด้งท้องถิ่นของจ.คากาวะได้ในราคาไม่แพง โดยเป็นร้านแฟรนไชส์ขึ้นชื่อที่มีสาขาทั่วญี่ปุ่นภายใต้แนวคิดที่ต้องการเผยแพร่ซานูกิอุด้งรสเลิศราคาไม่แพงไปทั่วโลกให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้ทานกันตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ

โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่จำหน่ายอุด้งสุดแปลกเฉพาะฤดูร้อน เช่น ซีซาร์สลัดอุด้งแสนอร่อย นี่แหละ

เว็บไซต์หลัก:http://www.hanamaruudon.com/

ร้านอุด้งสุดพิถีพิถัน

Udon Shin (อุด้งชิน : ชินจุกุ)

ส่วนร้านอุด้งแนะนำสำหรับใครที่ต้องการลิ้มลองอุด้งสุดพิถีพิถันฝีมือเชฟที่ไม่ใช่ร้านแฟรนไชส์ก็คือ Udon Shin (อุด้งชิน) นั่นเอง ที่นี่ตั้งอยู่ห่างจาก JR Shinjuku Station ประมาณเดินเท้า 5 นาที

เจ้าของร้านใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเสิร์ฟอุด้งภายใต้คอนเส็ปต์「นวดเส้นสดใหม่」「ตัดเส้นสดใหม่」และ「ต้มเส้นสดใหม่」ทุกชาม ลูกค้าจึงมักต้องรออุด้งหลังสั่งอาหารประมาณ 10 – 15 นาทีเลยทีเดียว แต่ในระหว่างที่ต้องรออาหารพลางฟังเสียงอันอ่อนโยนจากพนักงานท่ามกลางบรรยากาศแสนเงียบสงบนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่สุขใจจริงๆค่ะ ยังไงเพื่อนๆก็ลองแวะมาดื่มด่ำกับอุด้งสุดพิถีพิถันพลางใช้เวลาชิลล์ๆที่นี่กันดูนะคะ ^^

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับอุด้งชินสามารถเข้าไปดูได้จากบทความ「 「อุด้งชิน」ร้านอุด้งเส้นหนานุ่มทำสดใหม่ในชินจูกุ

ที่อยู่:Soma Building 1F, 2 Chome-20-16 Yoyogi, Shibuya-ku, Tōkyō-to
เบอร์โทรศัพท์:03-6276-7816
เวลาทำการ:วันจันทร์・วันอังคาร・วันพุธ・วันพฤหัสบดี・วันอาทิตย์・วันหยุดนักขัตฤกษ์ 11:00~23:00 น. (L.O. 22:00 น.), วันศุกร์・วันเสาร์ 11:00~24:00 น. (L.O. 23:00 น.)
วันหยุด:ไม่มี (ยกเว้นวันสิ้นปี-ต้นปี)
เว็บไซต์หลัก:http://www.udonshin.com/blank-1

Kanouya (คาโนอุยะ : อาซากุสะ) ร้านอุด้งโฮมเมด

Kanouya (คาโนอุยะ)」คือ ร้านอุด้งโฮมเมดที่เปิดสาขาในอาซากุสะเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 โดยจำหน่ายเมนูอุด้งมากมายจนเลือกไม่ถูกไม่ว่าจะเป็นบุคคาเคะอุด้งหรือคามาอาเกะอุด้ง แถมบนชั้น 2F ก็ยังมีโต๊ะนั่งตั้งเอาไว้ให้บริการด้วย เนื่องจากในฤดูใบไม้ผลิ เราสามารถชมซากุระของ「Denbouin (วัดเด็มโบอิน)」แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่ตั้งอยู่ด้านหน้าได้ ที่นี่จึงนับเป็นจุดชมซากุระลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครรู้แห่งหนึ่งเลยล่ะค่ะ ส่วนภายในร้านมีบรรยากาศอันแสนเงียบสงบ เราจึงสามารถอิ่มอร่อยกับอุด้งได้อย่างสบายๆ

ที่อยู่:1 Chome-37-12 Asakusa, Taitō-ku, Tōkyō-to
เบอร์โทรศัพท์ (สำหรับจองล่วงหน้า):03-3844-6424
เวลาทำการ:11:00~20:00น. เปิดทำการตอนกลางวันและวันอาทิตย์
วันหยุด:วันพุธ
เว็บไซต์หลัก:http://www.denbouin-dori.com/shop/kanouya/index.htm

TsuruTonTan (ทสึรุตอนตัน : กินซ่า・สนามบินฮาเนดะ・โตเกียว・รปปงหงิ・ชินจุกุ)

TsuruTonTan (ทสึรุตอนตัน)」คือ ร้านอุด้งที่สามารถรับประทานอุด้งชั้นเลิศตามจังหวะเพลงได้ทั้งเสียงนวดแป้งสาลีที่ผสมผสานกันอย่างพิถีพิถันดัง「ตอนตอน (ตุบตุบ)」และเสียงเชฟมืออาชีพตัดแผ่นแป้งดัง「ตันตัน (ตึงตึง)」จึงเป็นที่มาของชื่อร้านว่า “ทสึรุตอนตัน” ที่แสดงขั้นตอนตั้งแต่การนวดแป้ง ตัดแผ่นแป้ง ไปจนถึงรสสัมผัสของเส้นอุด้งเลยทีเดียว บอกเลยว่ารสสัมผัสลื่นปรื๊ดๆเคี้ยวหนึบหนับถ้าเกิดได้ลองสักครั้งแล้วจะติดใจ

ถึงแม้ว่าร้านนี้จะมีสาขามากมายหลายแห่งก็จริง แต่ทุกสาขาไม่เหมือนกันเลยนะจ๊ะขอบอก... เพราะว่าจะมีการคิดคอนเส็ปต์ของร้านตามแต่ละพื้นที่และลูกค้าด้วยนั่นเอง เราจึงสามารถเพลิดเพลินกับร้าน「TsuruTonTan (ทสึรุตอนตัน)」ในคอนเส็ปต์ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ได้ ยังไงเพื่อนๆก็ลองแวะมากันให้ได้สักครั้งนะคะ ^^

เนื่องจากเวลาทำการของแต่ละสาขาก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย จึงควรเช็คจากเว็บไซต์หลักหรือหน้าร้านก่อนเสมอ

เว็บไซต์หลัก:http://www.tsurutontan.co.jp/about.html

บทส่งท้าย

“อุด้ง” คือ เมนูชาวบ้านญี่ปุ่นที่ทั้งอร่อยและราคาถูก เนื่องจากในญี่ปุ่นมีร้านอุด้งท้องถิ่นเยอะมาก ตอนแรกหลายคนจึงอาจกล้าๆกลัวๆไม่กล้าเข้า แต่นี่แหละเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่สามารถสัมผัสได้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นจริงๆ

ถ้าเกิดใครเจอร้านอุด้งในญี่ปุ่นก็ลองรวบรวมความกล้าเข้าไปลิ้มลองอุด้งกับคนญี่ปุ่นท้องถิ่นกันดูเนอะ

หวังว่าเพื่อนๆทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้กันนะคะ ^^

Written by

日本への訪日外国人の方が、もっと増えますように!

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ