Start planning your trip
5 นาฬิกาเรือนงามในโตเกียว ศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของผู้คน
นาฬิกาที่เราเห็นตามที่สาธารณะไม่บอกแค่เวลาในการดำเนินชีวิต แต่ยังมีคุณค่าทางศาสตร์และศิลป์ด้วย บทความนี้ขอแนะนำนาฬิกา 5 เรือนในโตเกียวที่ต้องแวะหยุดชื่นชมและสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนสักครั้ง
บทบาทของนาฬิกาที่ขับเคลื่อนชีวิตของผู้คน
นาฬิกาบนศูนย์การค้าคิตเตะ มารุโนะอุจิ (KITTE Marunouchi Building) หน้าสถานีโตเกียว
ถ้าจะพูดว่า นาฬิกาทำให้โลกหมุนไปข้างหน้า คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง
หลายเมืองในยุโรปมีหอนาฬิกาที่บอกเวลาทุกชั่วโมง ในอดีตหอนาฬิกาเหล่านี้ทำหน้าที่บอกเวลาทำงานหรือเวลาสวดอธิษฐานสำหรับผู้คนที่ยังไม่มีนาฬิกาแขวนหรือนาฬิกาข้อมือ
ปัจจุบันก็ยังมีนาฬิกาตามที่สาธารณะทั่วโลกที่เดินบอกเวลาเป็นจังหวะไปพร้อมกับจังหวะวิถีชีวิตของผู้คน
นาฬิกาที่คอยบอกเวลาในโตเกียว
Casa d' Angela AOYAMA นาฬิกาที่คอยเฝ้ามองผู้คนบนถนนอาโอยามะ
ผู้เขียนคิดว่ายิ่งประเทศมีเทคโนโลยีซับซ้อนเท่าไหร่ นาฬิกาก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น สมมติฐานนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ แต่น่าจะใช้กับญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่ของโลกได้
โดยเฉพาะโตเกียวที่ซึ่งสัมผัสได้ถึงการเชื่อมโยงระหว่างนาฬิกากับเทคโนโลยี นาฬิกาที่อยู่ตรงทางเข้าสถานีโตเกียว นาฬิกาของอาคาร NTT Docomo Yoyogi ในชินจูกุที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลในเวลากลางคืน และนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีลวดลายเป็นจักรราศีบนถนนอาโอยามะ (Aoyama Avenue)
มีนาฬิกาขนาดใหญ่ในเมืองมากมายที่เดินผ่านก็อดเหลียวมองไม่ได้ เมื่อมองนาฬิกาเหล่านี้ทำให้หวนคิดถึงช่วงเวลายาวนานที่นาฬิกาคอยบอกเวลาในการดำเนินชีวิตของผู้คนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
ผู้เขียนที่ชื่นชอบนาฬิกามักออกเดินทางเพื่อตามหานาฬิกาประหนึ่งงานอดิเรก บทความนี้ผู้เขียนขอแนะนำ 5 นาฬิกาเรือนสวยที่อยากให้หยุดแวะชมเมื่อมาโตเกียว
แต่ละเรือนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของมหานครโตเกียวที่แสดงให้เห็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น
1. หอนาฬิกาวาโค (Wako's Clock Tower) กินซ่า
ภาพจากบทความ : 15 สิ่งพิเศษที่ต้องทำในกินซ่า
หอนาฬิกาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้าวาโคในกินซ่า ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของโตเกียว แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาของญี่ปุ่นด้วย
เจ้าของอาคารวาโคคือบริษัทไซโก้ (Seiko ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า เซโค) ผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของญี่ปุ่น ก่อตั้งโดยฮัตโตริ คินทาโร (ค.ศ. 1860 - 1934) นักธุรกิจหนุ่มที่เปิดร้านขายและซ่อมนาฬิกาที่เคียวบาชิ (Kyobashi) ใกล้กินซ่า
ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงต้นของสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) ที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม ฮัตโตริ คินทาโรสัมผัสได้ว่าผู้คนจำต้องมีนาฬิกาที่แม่นยำ จึงทุ่มเทกำลังในการผลิตและซ่อมนาฬิกาจนปี 1881 เขาได้เปิดร้านนาฬิกาฮัตโตริซึ่งเป็นรากฐานของ Seiko หลังจากตั้งโรงงานเซโคชะ (Seikosha) และเปิดสาขาที่ 2 ในกินซ่า ปี 1894 ก็ได้ติดตั้งหอนาฬิกาบนอาคารบริษัท และนี่ก็คือหอนาฬิกาวาโครุ่นแรก
ปี 1923 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโต อาคารได้รับความเสียหายมากจึงจำต้องสร้างสำนักงานใหญ่ของ Seiko ขึ้นใหม่ หอนาฬิกาวาโคในปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปี 1932 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกินซ่าในปัจจุบัน
ไซโก้ดำเนินธุรกิจในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมนาฬิกา ได้ผลิตนาฬิกามากมายที่ทำให้โลกประหลาดใจ เช่น นาฬิกาแขวนระบบควอทซ์เรือนแรกของโลก (ค.ศ. 1968) นาฬิกาข้อมือระบบควอทซ์ (ค.ศ. 1969) นาฬิกาข้อมือดิจิตอลหน้าจอ LCD แบบตัวเลข 6 หลัก (ค.ศ. 1973) และนาฬิกาพลังงานแสงอาทิตย์ Astron GPS Solar (ค.ศ. 2012)
ท่านที่สนใจเรื่องราวของ Seiko ลองแวะไปที่ Seiko Museum Ginza ใกล้กับห้างสรรพสินค้าวาโค พิพิธภัณฑ์มี 5 ชั้นจัดแสดงนาฬิกาที่น่าสนใจต่างๆ จากทั่วโลกในแต่ละสมัยทั้งเก่าและใหม่
2. นาฬิกาลูกตุ้มยุคคุริธธึม (Yukku-Rhythm Pendulum Clock) อาคารชินจูกุเอ็นเอส (Shinjuku NS Building)
นาฬิกาที่น่าประทับใจที่สุดของโตเกียวอีกเรือนก็คือนาฬิกาลูกตุ้ม Yukku-Rhythm ตั้งอยู่ในอาคาร Shinjuku NS ถือเป็นนาฬิกาลูกตุ้มที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งได้รับการบันทึกในกินเนสส์บุ๊ค ผลิตขึ้นในปี 1982 โดย Seiko มีความสูง 29 เมตร ลูกตุ้มยาว 22.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางหน้าปัด 7.2 เมตร
ลูกตุ้มจะแกว่งทุก 30 วินาทีด้วยพลังของกังหันน้ำ เป็นกลไกที่เคลื่อนไหวด้วยจังหวะช้าๆ (yukkuri (ช้า) + rhythm) จึงเป็นที่มาของชื่อ Yukku-Rhythm
อีกหนึ่งความโดดเด่นของนาฬิกาเรือนนี้คือหน้าปัดแบ่งเป็น 12 ส่วนตามนักษัตรของญี่ปุ่น (จูนิชิ) หนึ่งส่วนคือ 2 ชั่วโมง (1:00 - 03:00 น. คือชั่วโมงวัว 17.00 - 19.00 น. คือชั่วโมงระกา ฯลฯ ) นั่นหมายความว่าเข็มนาฬิกาจะหมุนบนหน้าปัดครบรอบในหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง) ไม่ใช่ใน 12 ชั่วโมงเหมือนนาฬิกาทั่วไป กล่าวคือเป็นการรวมวิธีการบอกเวลา 2 แบบ ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน
อาคาร Shinjuku NS เป็นอาคารสำนักงาน แต่มีคาเฟ่และร้านอาหารด้วย สามารถแวะจิบกาแฟและเพลิดเพลินกับเสียงนาฬิกาและเวลาที่ผ่านไปอย่างช้าๆ ของนาฬิกาลูกตุ้ม Yukku-Rhythm
3. นาฬิกาเรือนยักษ์ของสถานีโทรทัศน์นิปปอน (Nippon Television's Big Clock) ชิโอโดเมะ (Shiodome)
นาฬิกาเรือนยักษ์ของ Nippon TV หรือที่เรียกกันว่านาฬิกาเรือนยักษ์ของจิบลิ (NTV big clock) ติดตั้งอยู่บนผนังหน้าอาคารสถานีโทรทัศน์นิปปอนใกล้สถานีชิโอโดเมะ (Shiodome) ออกแบบโดยมิยาซากิ ฮายาโอะ ผู้อำนวยการสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) เปิดตัวในปี 2007 ว่ากันว่าใช้เวลาสร้างนานถึง 6 ปี
เมื่อแฟนหนังของจิบลิเห็นนาฬิกาเรือนนี้จะนึกถึงภาพยนตร์อนิเมะเรื่องปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl's Moving Castle ปี 2004) ภายนอกดูคล้ายปราสาทจริงๆ ส่วนขา 2 ข้างเหมือนกำลังมุ่งหน้าไปยังที่ไหนสักแห่งในโลกใหม่
หากจ้องมองใกล้ๆ จะเห็นเทคนิคอันยอดเยี่ยมและรายละเอียดการออกแบบต่างๆ เช่น นาฬิกาเรือนเล็ก ตุ๊กตาคนงานตัวจิ๋ว รวมทั้งประตู หน้าต่าง และโคมไฟอันน้อย
ตุ๊กตาจะเคลื่อนไหวเพื่อบอกเวลาในวันธรรมดา 5 ครั้งต่อวัน (12:00, 13:00, 15:00, 18:00, 20:00) และในวันหยุดสุดสัปดาห์ 6 ครั้งต่อวัน (10:00, 12:00, 13:00, 15:00, 18:00, 20:00) (* 1)
ใช้เวลาแสดง 3 นาที เป็นช่วงเวลาที่หัวใจของคุณจะอบอุ่นไปกับการเคลื่อนไหว เสียง และแสงเหมือนหลุดเข้าไปในภาพยนตร์ของจิบลิเลย
* 1: เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิท-19 ในปี 2020 จะมีการแสดงเพียงวันละ 2 ครั้ง คือ 15:00 น. และ 20:00 น.
ว่ากันว่านาฬิกาเรือนยักษ์ของจิบลิสร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนชื่นชอบ เมื่อกลไกเริ่มทำงานผู้คนก็จะมารวมตัวกัน เพลิดเพลินและสนุกไปกับความงดงามและความมีชีวิตชีวาของนาฬิกาที่เคลื่อนไหวนี้
4. หอนาฬิกาตุ๊กตากลคาราคุริ (Karakuri Yagura หรือ Mechanical Puppet Clocks) นิงเกียวโจ (Ningyocho)
ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มาของความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นย้อนไปในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ช่างฝีมือได้ประดิษฐ์เครื่องจักรต่างๆ ที่มีความซับซ้อน เช่น ตุ๊กตากลคาราคุริและนาฬิกา
หอนาฬิกาตุ๊กตากลคาราคุริตั้งอยู่ใกล้สถานีนิงเกียวโจ เปิดตัวในปี 2009 เป็นหอนาฬิกาที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวในสมัยเอโดะ
สมัยก่อนที่นิงเกียวโจมีโรงละครเล็กๆ มากมายที่ผู้คนได้เพลิดเพลินกับละครคาบูกิและละครหุ่นกระบอก รวมทั้งมีช่างฝีมือทำตุ๊กตาและนักเชิดหุ่นมากมายด้วย นาฬิกาเรือนนี้ช่วยเตือนความทรงจำของผู้คนให้นึกถึงช่วงเวลาดังกล่าว
การแสดงตุ๊กตากลจะเริ่มขึ้นทุกชั่วโมง เริ่มจากนักเล่าเรื่องตลกราคุโกะจะขับขานเรื่องราวเกี่ยวกับนิงเกียวโจในอดีต แล้วตุ๊กตาผู้คนสมัยเอโดะทั้งพ่อค้า ซามูไร ไปจนถึงเกอิชาจะปรากฏตัวออกมาและร่ายรำตามเรื่องราวที่เล่านั้น
อีกด้านหนึ่งของสี่แยกมีหอนาฬิกาที่คล้ายกันอีกอันด้วย เป็นหอนาฬิกาที่อุทิศแก่นักดับเพลิงของเอโดะ หอนาฬิกาทั้งสองนี้เรียกว่าหอนาฬิกาตุ๊กตากลคาราคุริ (หอจักรกล) เมื่อชมหอนาฬิกาเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าตุ๊กตากลคาราคุริในสมัยเอโดะนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของวิศวกรรมหุ่นยนต์ในญี่ปุ่น
5. นาฬิกาไดเมียว (Daimyo Clock) เซ็นดากิ (Sendagi)
นาฬิกาญี่ปุ่น (Wadokei) เป็นนาฬิกาที่ไดเมียวให้ช่างฝีมือสร้างขึ้น จึงเรียกอีกชื่อว่า นาฬิกาไดเมียว / Photo by Pixta
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของนาฬิกาในญี่ปุ่น จะไม่พูดถึงนาฬิกาญี่ปุ่นที่ผลิตในสมัยเอโดะคงไม่ได้
นาฬิกาไขลานเข้ามาในญี่ปุ่นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โดยมิชชันนารีชาวสเปน ช่างฝีมือได้เรียนรู้หลักการผลิตนาฬิกาจากมิชชันนารีชาวต่างชาติในนางาซากิและเกียวโต แต่ญี่ปุ่นในสมัยนั้นใช้ปฏิทินจันทรคติ ดังนั้นจึงต้องประดิษฐ์นาฬิกาตามปฏิทินที่แบ่งเวลาใน 1 วันออกเป็น 12 ส่วน
ในสมัยนั้นยังคิดกันว่า ช่วงกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน และแบ่งแต่ละช่วงเป็น 6 ส่วน (ส่วนละ 2 ชั่วโมง) แต่ในความเป็นจริง ในฤดูที่อากาศอบอุ่น พระอาทิตย์จะส่องแสงยาวขึ้น ส่วนในฤดูที่อากาศหนาว พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นลง จึงต้องปรับความยาว 1 ส่วน (2 ชั่วโมง) ตามฤดูกาล ช่างทำนาฬิกาในสมัยเอโดะพยายามสร้างนาฬิกาที่สะท้อนเวลาตามฤดูกาล ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงเวลา แต่ยังแสดงวันและเดือนด้วย
นาฬิกาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการประสานจังหวะตามธรรมชาติกับการไหลของเวลาใน 1 วัน (ระยะเวลาที่ต่างกันของกลางวันกับกลางคืน) ตามฤดูกาล นาฬิกาสไตล์ตะวันตกแบ่งช่วงเวลาใน 1 วันอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงความต่างของธรรมชาติ
หลังการปฏิรูปสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868) ญี่ปุ่นซึ่งรับแนวคิดแบบตะวันตกมา ได้นำปฏิทินเกรโกเรียนและการกำหนดเวลาที่แน่นอนมาใช้ ส่งผลให้ประเพณีการทำนาฬิกาญี่ปุ่นสูญหายไป แต่ช่างทำนาฬิกาจำนวนน้อยนิดยังคงพยายามสืบสานทักษะทางวิศวกรรมดั้งเดิมไว้
ทานากะ ฮิซาชิเกะ (ค.ศ. 1799-1881) ช่างทำนาฬิกาและนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง เป็นผู้ที่เปิดตัวธุรกิจด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่กลายมาเป็นแบรนด์โตชิบาอันมีชื่อเสียง
ภาพด้านบนเป็นนาฬิกาที่ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนประถมยานากะใกล้กับสถานีเซ็นดากิ แม้จะเป็นนาฬิกาธรรมดา แต่รูปทรงชวนให้นึกถึงนาฬิกาญี่ปุ่นที่วางอยู่บนหอนาฬิกา นาฬิกาเรือนนี้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงยุคสมัยที่นักประดิษฐ์ผู้โอบกอดความฝันอันยิ่งใหญ่ใช้เวลาแต่ละวันในการปฏิวัติความสำเร็จทางเทคโนโลยี และมุ่งมั่นที่ประสานเวลาทางกลศาสตร์เข้ากับเวลาทางธรรมชาติ
ในยานากะ (Yanaka) มีพิพิธภัณฑ์นาฬิกาไดเมียว (Daimyo Clock Museum) ซึ่งจัดแสดงนาฬิกาเก่าที่น่าทึ่งมากมาย ลองแวะไปสัมผัสกับนาฬิกาเก่าที่น่าตื่นตาตื่นใจกันนะ
ไปดูนาฬิกาที่โตเกียวกัน
นาฬิกา Bright Time ที่สถานีชิบูย่า
ผู้เขียนชอบที่จะเดินทางไปตามหานาฬิกาตามที่ต่างๆ ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่านาฬิกาเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ตรึกตรองถึง "อวกาศ" มากกว่า "เวลา" เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวของคนและชุมชนนั้นๆ จนรู้สึกว่านาฬิกาก็คือ "ชีพจรของเมือง"
ลองไปชมภาพนาฬิกาที่ผู้เขียนพบเจอขณะท่องเที่ยวได้ใน Instagram นี้ หลังจากนี้ก็คิดว่าจะรวบรวมนาฬิกาทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลกเอาไว้ด้วย
เป็นบรรณาธิการที่ MATCHA ตั้งแต่ปี 2016 ความหลงใหลของฉันในละครโนะและศิลปะการแสดงของประเทศญี่ปุ่นคือสิ่งที่นำฉันมาที่นี่ เรื่องทุกอย่างที่ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นทุกวันคือสิ่งที่ทำให้ฉันอยู่ที่นี่
ฉันเรียนรู้การจัดดอกไม้อิเคบานะ (Ikenobo School) และพิธีสามัคคี (Omote Senke) ตั้งแต่ปี 2012 งานเขียนเรื่องสั้นและบทวิจารณ์ละครที่ฉันเขียนนอกเวลาทำงานสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์วรรณกรรมรวม "บังกุ คิงโย"
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง