วัฒนธรรมอาหารจากฉลามของเคเซ็นนุมะ เมืองแห่งทะเลในมิยากิ
เมืองเคเซ็นนุมะในจังหวัดมิยากิอยู่บริเวณชายฝั่งซันริคุ 1 ใน 3 แหล่งจับปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นี่มีหูฉลามเป็นหนึ่งในสินค้าประจำเมือง มาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวเคเซ็นนุมะที่เกี่ยวกับฉลามที่ร้านอิชิวาตะโชเต็น ร้านเฉพาะทางหูฉลามที่เปิดมานานกว่า 50 ปี
ฉลามกับวัฒนธรรมของเคเซ็นนุมะ
Picture courtesy of Ishiwatashoten
หูฉลาม หนึ่งในวัตถุดิบราคาสูงของอาหารจีน ที่จริงแล้วคือครีบปลาฉลามตากแห้ง นิยมมาทำเป็นซุปหรือนึ่งทั้งครีบ ที่ประเทศญี่ปุุ่นมีการส่งออกหูฉลามไปประเทศจีนมาตั้งแต่อดีตจึงมีการพัฒนาเรื่องการแปรรูปหูฉลามมาโดยตลอด
โดยเฉพาะที่เมืองเคเซ็นนุมะ (Kesennuma) ในจังหวัดมิยากิ (Miyagi) ที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น คิดเป็น 90% จากปริมาณรวมของทั้งประเทศ ปัจจุบันหลายแห่งมีปัญหาเรื่องการฟินนิง หรือตัดเอาเฉพาะครีบของฉลามแล้วปล่อยตัวฉลามทิ้งลงทะเล แต่ที่เคเซ็นนุมะไม่ทำเช่นนั้น
การประมงของเคเซ็นนุมะ
Picture courtesy of Ishiwatashoten
เมืองเคเซ็นนุมะเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านการประมงมาตั้งแต่อดีตจนเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งการประมงของภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) เมืองนี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งอ่าวซันริคุ (Sanriku) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของย่านการประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
ลักษณะเด่นของชายฝั่งบริเวณเคเซ็นนุมะคือชายฝั่งเว้าแหว่งเข้ามาเป็นอ่าว จึงทำให้คลื่นลมในอ่าวสงบและอุดมไปด้วยแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของปลา
สัญลักษณ์ของเมืองนี้คือหอลอยน้ำ อุคิมิโด (Ukimido Hall) จากหอนี้สามารถมองเห็นภายในอ่าวเคเซ็นนุมะได้ทั่วจึงเป็นจุดที่มาแล้วทำให้รู้สึกดีมาก ที่ท่าเรือยังมีเรือนำเที่ยวพาชมทั่วอ่าวเคเซ็นนุมะด้วยนะคะ
นอกจากนี้ข้างท่าเรือยังมีคอมมูนิตี้มอลล์ NAIWAN ประกอบด้วยอาคารถึง 4 หลัง มีร้านอาหารให้ได้ลิ้มลองรสชาติของดีประจำเมืองได้ด้วย
วัฒนธรรมปลาฉลามของเคเซ็นนุมะ สำนึกในบุญคุณของชีวิต
คุณอิวาชิตะ ฮิซาชิ (Iwashita Hisashi) ประธานกรรมการบริหารของร้านอิชิวาตะโชเต็น (Ishiwatashoten) ร้านเฉพาะทางด้านหูฉลามที่เปิดมานานกว่า 50 ปีจะมาเล่าถึงวัฒนธรรมปลาฉลามของเคเซ็นนุมะให้เราฟังค่ะ
"วัฒนธรรมการแปรรูปปลาฉลามนี้มีทั่วประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีต แต่สาเหตุที่เหลือเพียงเคเซ็นนุมะเป็นแหล่งผลิตเกี่ยวกับปลาฉลามขนาดใหญ่นั้นเพราะที่นี่ไม่ได้มีเพียงแค่ร้านเฉพาะทางด้านหูฉลามเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการเกี่ยวกับปลาฉลามอื่นๆ เช่นร้านแปรรูปหนังปลาฉลามและร้านแปรรูปเนื้อปลา"
การที่ผู้แปรรูปปลาฉลามมารวมตัวกันในเมืองเดียวไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้บ่อย บางส่วนของโลกมีการล่าหูฉลามโดยจับปลาฉลามมาเพื่อตัดเพียงแค่ครีบแล้วทิ้งตัวปลาลงทะเลซึ่งเป็นการทำประมงที่สร้างปัญหา แต่ที่เคเซ็นนุมะมีวัฒนธรรมและธรรมเนียมว่าต้องนำปลาฉลามมาใช้โดยไม่เหลือทิ้งอย่างสำนึกในบุญคุณของชีวิตที่ได้มา
"เราแทบจะไม่ทิ้งส่วนไหนของฉลามเลยครับ เนื้อปลาจะนำไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นชิคุวะหรือคามาโบโกะ ส่วนกระดูกและหนังนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ"
แม้กระทั่งหัวใจปลาฉลาม ที่เคเซ็นนุมะก็นำมาทำเป็นเมนูปลาดิบเรียกว่า โมกะโนะโฮชิ (Moka no hoshi)
ภัยพิบัติและการฟื้นฟูของอิชิวาตะโชเต็น
บรรยากาศเมืองเคเซ็นนุมะขณะไปเก็บข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020
วันที่ 11 มีนาคม 2011 คือวันที่เมืองเคเซ็นนุมะถูกภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิทำลาย เมืองทั้งเมืองได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
"แน่นอนว่าทั้งท่าเรือ ตลาดและโรงงานของพวกเราพังราบคาบ ตอนนั้นเคเซ็นนุมะมีร้านหูฉลาม 10 ร้าน แต่ 2 ร้านในนั้นถึงกับต้องเลิกกิจการ"
ถึงจะเป็นสถานการณ์ที่มองไม่เห็นอนาคตแต่อิชิวาตะโชเต็นก็รีบสร้างโรงงานขึ้นมาอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เพราะอยากรักษาประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งฉลามแห่งนี้
"ถ้าโรงงานแปรรูปของเมืองเคเซ็นนุมะหายไป เรือประมงที่บรรทุกปลาฉลามก็จะไม่มีที่ไป หรืออาจต้องไปหาท่าอื่นเทียบแทน เราจึงรีบสร้างโรงงานขึ้นมาอีกครั้งให้เร็วที่สุด ถึงจะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง"
คุณอิชิวาตะกล่าวว่าในอีกด้านหนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีซึ่งเป็นผลมาจากภัยพิบัติเช่นกัน
"ก่อนเกิดภัยพิบัติ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการร้านหูฉลามคือคู่แข่ง แต่เมื่อทุกคนได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากศูนย์ ทุกคนจึงร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อที่จะได้กลับมาทำการค้าขายกันอีกครั้ง"
หูฉลามของอิชิวาตะ
ทำไมหูฉลามถึงถูกเรียกว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง
"ปลาฉลาม 1 ตัวมีส่วนที่สามารถนำมาทำหูฉลามได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนของปลาฉลามที่จับได้ที่เคเซ็นนุมะกับปริมาณประชากรคนญี่ปุ่นทั้งประเทศแล้ว 1คนจะได้กินหูฉลามเพียงแค่ 1 ครั้งในช่วง 35-40 ปีเท่านั้น จึงมีราคาสูงครับ"
คุณอิชิวาตะบอกว่าปลาฉลามพันธุ์โยชิคิริซาเมะที่จับได้ที่เคเซ็นนุมะมีจุดเด่นตรงเป็นพันธุ์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หูฉลามมีเส้นใยที่ละเอียดและอุดมไปด้วยเจลาติน และด้วยการขั้นตอนการแปรรูปที่พิถีพิถันและสามารถรักษาความสดใหม่ไว้ได้จึงสามารถนำหูฉลามไปนึ่งทั้งครีบได้
"การแปรรูปหูฉลามมีขั้นตอนมากมายที่ต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงาน การรักษารูปทรงของหูฉลามจึงทำได้ยาก สำหรับร้านผมแล้วมีขั้นตอนที่คุณปู่เป็นคนคิดค้นเรียกว่าซุมุคิครับ"
ภายในโรงงาน / Picture courtesy of Ishiwatashoten
ซุมุคิคือการนำเนื้อ หนังและก้างส่วนเกินออกจากครีบสดแล้วทำให้แห้งด้วยเครื่องจักร
ก่อนที่จะมีขั้นตอนนี้วิธีหลักในการตากแห้งหูฉลามคือการตากด้วยแสงอาทิตย์ แต่ด้วยวิธีซุมุคิจึงสามารถแปรรูปหูฉลามได้จำนวนมากในขณะที่ยังสดใหม่อยู่ จึงได้หูฉลามที่ถูกสุขลักษณะอนามัยและมีคุณภาพดี
หูฉลามมีรสชาติยังไง
"หูฉลามทั้งครีบประกอบด้วยเจลาติน รสชาติของหูฉลามก็คือรสชาติของเจลาติน แต่จุดที่น่าสนใจของหูฉลามก็คือการผสมผสานระหว่างเจลาตินและน้ำมัน"
คุณอิชิวาตะอธิบายให้ฟังและนำสเต็กหูฉลามออกมาให้ลองทาน ร้านอาหารจีนส่วนใหญ่จะนำหูฉลามไปนึ่งทั้งครีบหรือทำเป็นซุป แต่ที่ร้านอิชิวาตะจะนำมาทำเป็นสเต็กหูฉลาม
การปรุงรสจะลดการใช้โซเดียมเท่าที่จะทำได้และไม่ใส่สารปรุงแต่งรสชาติ สามารถนำไปย่างด้วยกระทะที่บ้านได้เอง
"สินค้าตัวนี้เป็นซุปใสกับหูฉลาม แต่รสชาติของซุปใสเดี่ยวๆ กับรสชาติตอนที่นำไปปรุงพร้อมหูฉลามแล้วจะเปลี่ยนไป"
"หูฉลามเป็นวัตถุดิบที่น่าทึ่ง เพราะรสชาติและรสสัมผัสจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าจะย่างหรือนึ่งและใช้เครื่องปรุงรสแบบไหน ไม่ต่างจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์เลยครับ"
สเต็กหูฉลาม (2 แผ่น) : ราคารวมภาษี 10,800 เยน
หลากหลายความอร่อยจากทะเลของเคเซ็นนุมะ
สินค้าอื่นที่น่าสนใจของร้านอิชิวาตะคือ ซอสหอยนางรมกับซอส XO สูตรเฉพาะที่ใช้วัตถุดิบจากทะลเคเซ็นนุมะอย่างเต็มที่ ทุกอย่างไม่ใส่สารปรุงแต่งและทำมาจากวัตถุดิบในจังหวัดมิยากิ
คาบสมุทรคาราคุวะ / Picture courtesy of Ishiwatashoten
โดยเฉพาะหอยนางรมที่นำมาทำซอสหอยนางรมเป็นหอยจากบริเวณคาบสมุทรคาราคุวะ (Karakuwa) ในเมืองเคเซ็นนุมะซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นที่เลี้ยงหอยนางรมชั้นยอด เนื้อหอยนางรมที่เลี้ยงด้วยแพลงก์ตอนที่อุดมสมบูรณ์มีความนุ่มเด้งและเต็มไปด้วยสารอาหาร หอยที่ใช้จะคัดเฉพาะหอยที่โตเต็มวัยที่สุดคือหอยที่จับในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของแต่ละปีเท่านั้น
"ซอสทั่วไปจะใช้แค่น้ำซุปจากหอยนางรมไปเคี่ยวแต่ซอสของเราสกัดมาจากหอยนางรมทั้งตัว เรานำหอยนางรมเคเซ็นนุมะในช่วงที่อร่อยที่สุดมาอัดลงขวดเป็นซอสหอยนางรมให้ทุกคนนำไปทานที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ได้ตลอดทั้งปีครับ"
รสชาติเข้มข้นของหอยนางรมโตเต็มวัยจะช่วยปรุงแต่งอาหารหลากหลายเมนูให้อร่อย
ซอสหอยนางรมเคเซ็นนุมะโตเต็มวัย : ราคารวมภาษี 972 เยน
สูตรบ่มสามปี : ราคารวมภาษี 2,160 เยน
ซอส XO หอยเชลล์เคเซ็นนุมะและคอลลาเจน : 2,160 เยนรวมภาษี
สัมผัสวัฒนธรรมปลาฉลามของเคเซ็นนุมะที่ อุมิโนะอิจิ
อุตส่าห์มาถึงเคเซ็นนุมะทั้งทีก็อยากแนะนำให้มาลองทานอาหารทะเลสดๆ อร่อยๆ กันด้วย เรามากันที่อุมิโนะอิจิ (Umino-ichi) ข้างตลาดปลา สามารถมาหาซื้ออาหารทะเลสดในราคาท้องถิ่นได้ที่ชั้น 1
แล้วยังมีร้านข้าวหน้าอาหารทะเลดิบไคเซ็นด้งและซูชิด้วย ส่วนบริเวณช็อปปิ้งแอเรียที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ในจังหวัดไว้อย่างครบครันก็มีสเต็กหูฉลามและซอสหอยนางรมของอิชิวาตะโชเต็นให้เลือกซื้อ
ชั้น 2 ของอุมิโนะอิจิมี Shark Museum พิพิธภัณฑ์ในธีมปลาฉลามแห่งเดียวของประเทศญี่ปุ่น ดูแลเรื่องเนื้อหาจัดแสดงโดยอาจารย์นากายะ คาซุฮิโระ (Nakaya Kazuhiro) นักวิจัยปลาฉลามชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง เราสามารถเรียนรู้ระบบนิเวศน์ของปลาฉลามและวัฒนธรรมปลาฉลามของเคเซ็นนุมะได้จากที่นี่ค่ะ
ค่าเข้าชม Shark museum (รวมภาษี)
ผู้ใหญ่ : 500 เยน
เด็กประถม : 200 เยน
จะไปถึงถิ่นหรืออยู่ที่บ้านก็ลิ้มรสความอร่อยของเคเซ็นนุมะได้
สมัยก่อนถ้าพูดถึงหูฉลามก็จะนึกถึงอาหารจีนกัน แต่ตอนนี้มีวิธีปรุงหูฉลามที่หลากหลาย อย่างเช่นร้านอาหารชื่อ เคเซ็นนุมะ อาซาฮิซูชิ (Kesennuma Asahisushi) ที่เปิดมานานร่วม 50 ปีในเคเซ็นนุมะมีเมนูซูชิที่ใช้หูฉลามของอิชิวาตะโชเต็น
ส่วนสินค้าของอิชิวาตะโชเต็นที่แนะนำในครั้งนี้สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ จะสั่งไปทานเองหรือเอาไปเป็นของขวัญของฝากก็เหมาะค่ะ
อย่าลืมแวะมาเที่ยวที่เคเซ็นนุมะ เมืองที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของชาวเมืองที่อาศัยอยู่กับทะเลกันนะคะ!
Written by ISHIGAKI KUMIKO
In cooperation with Ishiwatashoten, Kesennuma Umino-ichi/Shark museum
Sponsored by Reconstruction fishery processing industry market recovery promotion center
บัญชีส่งเสริมการขายของ MATCHA สำหรับการโฆษณาองค์กรและรัฐบาลท้องถิ่น เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านของเราอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง