Start planning your trip
ทำโคมกระดาษเล็กน่ารักของตัวเองที่ Kobishiya Chube ในเกียวโต (Kyoto)
เกียวโต (Kyoto) เมืองหลวงเก่าที่มีงานฝีมือสืบทอดมาตั้งแต่อดีต เช่น สิ่งทอ และภาชนะต่างๆ ในวันนี้ขอแนะนำ โคะบิชิยะ จูเบ ที่เราสามารถไปลองทำเคียวโชชิน (โคมไฟกระดาษ) ได้ ลองไปทำโคมจิบิมารุ โคมไฟขนาดมินิที่มีอันเดียวในโลกเป็นของตัวเองดูไหมคะ
เยี่ยมชมช่างทำโคมกระดาษที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ
เกียวโต (Kyoto) เมืองหลวงเก่าที่ผสมผสานไปด้วยวัฒนธรรมใหม่ๆ และประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต เกียวโตเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเมืองที่มีช่างฝีมือผู้สืบทอดศิลปะหัตถกรรมดั้งเดิมหลากหลาย เช่น สิ่งทอ และภาชนะต่างๆ เป็นต้น
Kobishiya Chube (โคบิชิยะ ชูเบ) ที่เราจะแนะนำในวันนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ "เคียวโชจิน" หรือโคมไฟกระดาษสไตล์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเอโดะ แบรนด์นี้เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีส่วนร่วมในการออกแบบแสงของสถานที่ต่างๆ
โคบิชิยะ ชูเบเป็นแบรนด์ที่เกิดมาจากร้านโคจิมะ โชเท็น (Kojima Shoten) ร้านผู้ผลิตเคียวโชจินในเกียวโต ความโดดเด่นของที่นี่คือช่างฝีมือพยายามที่จะทำให้เสน่ห์ของเคียวโชจินเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ในครั้งนี้จะขอแนะนำการทำจิบิมารุ โคมไฟกระดาษขนาดเล็ก ที่ใครๆ ก็มาลองทำเองได้ที่โคบิชิยะ ชูเบค่ะ
โชจิน (โคมไฟกระดาษ) เอกลักษณ์ของเกียวโต
นี่คือจิบิมารุ (ลูกบอลขนาดเล็ก) ที่ผู้เขียนได้ไปลองทำในครั้งนี้ค่ะ เราจะได้ทำโคมไฟขนาดเล็กเท่าฝ่ามือค่ะ
โคบิชิยะ ชูเบพิถีพิถันในการนำเทคนิคจิบาริชิคิ (Jibari-shiki) ซึ่งเป็นเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ของเกียวโตมาใช้ คือการนำก้านไม้ไผ่มาดัดให้เป็นวง และพันให้ติดกันด้วยเส้นด้ายทีละอันๆ เมื่อได้เป็นกรอบขึ้นมาก็จะแปะทับด้วยวาชิ (กระดาษญี่ปุ่น) กระบวนการทั้งหมดไม่ใช้เครื่องจักรเลย ทำด้วยมือล้วนๆ
Picture courtesy of Kojima Shoten
เคียวโชจินของโคจิมะโชเท็น ใช้วัสดุที่คัดเลือกมาจากหลายแหล่งทั่วประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาในการทำมากกว่าโคมไฟกระดาษทั่วไป มีความทนทานและลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าจะเป็นโคมขนาดใหญ่หรือเล็กก็ใช้วิธีทำเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงสามารถเรียนรู้วิธีการทำเคียวโชจินของจริงได้ผ่านการทำจิบิมารุนี้ค่ะ
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นสบายใจได้ เพราะที่นี่มีพนักงานที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ด้วย
เอาล่ะค่ะ จากตรงนี้จะขอแนะนำวิธีการทำเคียวโชจินโดยแบ่งตามกระบวนการต่างๆ นะคะ จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 60-90 นาทีค่ะ
มาลองทำจิบิมารุกับช่างฝีมือกัน!
STEP1 เลือกกระดาษญี่ปุ่นของคุณเอง
จิบิมารุมีทั้งหมด 4 ด้าน ก่อนอื่นจึงต้องเลือกกระดาษวาชิที่มีสีและกระดาษวาชิที่มีลวดลายที่ชอบก่อนทั้งหมด 4 แผ่น
ประเภทของกระดาษวาชิที่ใช้คือเท็นกุโจ ทำขึ้นในจังหวัดโคจิ ซึ่งบางมากถึงขนาดที่แค่เอามือไปซ้อนก็มองทะลุได้ แต่ความพิเศษคือทนทานและไม่ขาดง่าย
STEP2 แปะกระดาษ
ค่อยๆ ใช้แปรงทากาวลงบนโครงไม้ไผ่ จุดสำคัญคือต้องทาให้ทั่วทุกซอกทุกมุมค่ะ
นำกระดาษสีและกระดาษที่มีลวดลายวางซ้อนกันและฉีดให้เปียกด้วยน้ำ แล้วแปะกระดาษวาชิจากด้านบนลงล่าง ระหว่างติดก็ค่อยๆ ดึงกระดาษให้ตึงเพื่อไม่ให้เกิดรอยย่นค่ะ
ใช้นิ้วฉีกกระดาษวาชิที่เกินออกมาจากฝั่งซ้ายและขวา เป็นอันเสร็จหนึ่งด้านค่ะ ต่อไปก็ไปเริ่มทำแบบเดิมอีกครั้งในฝั่งตรงข้ามค่ะ
STEP3 เป่าให้แห้งด้วยไดร์ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย!
ถ้าแปะครบทั้ง 4 ด้านแล้ว ในขั้นตอนสุดท้ายให้ใช้ไดร์เป่าผมเป่ากระดาษให้แห้ง จุดการเก็บกระดาษส่วนเกินด้านบนและล่างให้เรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จค่ะ! มาลองจุดไฟในโคมกันเลย
แสงสีนวลแสนอบอุ่นของโคมไฟเคียวโชจิน ดูแล้วรู้สึกสงบและผ่อนคลายขึ้นมาเลยค่ะ
ตอนเริ่มแปะกระดาษก็ตื่นเต้นค่ะเพราะกลัวดึงแรงแล้วกระดาษจะขาด แต่พอเริ่มแปะแผ่นสุดท้ายก็รู้สึกชินมือมากขึ้น เป็นงานที่ค่อนข้างประณีต จึงอาจมีบางส่วนที่ทำแล้วรู้สึกยากจัง แต่ในวินาทีที่ได้เห็นแสงไฟสว่างวูบวาบในโคมจิบิมารุฝีมือตัวเองแล้ว รู้สึกประทับใจมากค่ะ
เคียวโชจินที่ทำขึ้นด้วยมือทีละขั้นตอน ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงชิ้นใหญ่ พอได้ลองทำเองดูแล้วก็รู้สึกได้ถึงคุณค่าของงานฝีมือที่สืบทอดต่อกันมาเลยค่ะ
ลองไปเยือนโคบิชิยะ ชูเบ และทำจิบิมารุของเราเองกันให้ได้นะคะ
กิจกกรมลองทำจิบิมารุ ราคารวมภาษี 3,500 เยน แถมกล่องสำหรับนำกลับและไฟ LED จะมาคนเดียวก็จองได้ค่ะ
การเดินทางจากสถานีโทฟุคุจิ
การเดินทางไปยังโคจิมะโชเท็นเพื่อทดลองทำจิบิมารุ สามารถเดินจากสถานีโทฟุคุจิ (Tofukuji) รถไฟสายเคฮัน (Keihan) หรือสาย JR ได้โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที
ออกจากช่องตรวจตั๋วไป ให้เลี้ยวซ้ายตรงถนนที่อยู่ด้านหน้า จากนั้นพอเจอศาลเจ้าทาคิโอะ (Takio Shrine) ก็ให้เลี้ยวขวาแล้วเดินต่อ
เดินไปสักพักจะเจอย่านร้านค้า อิมากุมาโนะ โชเท็นไก (Imagumano Shotengai) เหมือนในรูปค่ะ
เดินต่อไปแล้วให้ดูป้ายที่ด้านบน จะมีป้ายที่เขียนว่า 平林医院 (Hirabayashi i-in : คลินิกฮิราบายาชิ) ก็เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนั้นเลยค่ะ
และเมื่อเดินตรงไปตามถนนอีก ก็จะเจอ "โคะจิมะโชเท็น" อยู่ตรงสุดซอยค่ะ
แล้วเราก็จะเจอโคจิมะ โชเท็นที่สุดทางค่ะ
ถึงเส้นทางจะค่อนข้างซับซ้อน แต่ในย่านร้านค้า อิมากุมาโนะ โชเท็นไก มีร้านอาหารและร้านขนมญี่ปุ่นตั้งอยู่เรียงราย คิดว่าจะได้เพลิดเพลินระหว่างทางไปร้านแน่นอนค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลโดย : Kojima Shoten
Kyoto / Kameoka 「遠くて近い」を探りながら、肌で感じる面白さを綴っていきたいです。
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง