Start planning your trip
เทศกาลกิอง (Gion Festival) หนึ่งในสามเทศกาลยิ่งใหญ่แห่งเกียวโต (Kyoto)
เทศกาลกิอง (Gion Festival) งานเทศกาลยิ่งใหญ่ที่มีเวทีเป็นเมืองเกียวโตทั้งเมือง มีประวัติยาวนานกว่า 1,000 ปี เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของฤดูร้อนในเกียวโต วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังครับว่างานเทศกาลกิองนั้นเป็นอย่างไร
เทศกาลกิอง เทศกาลที่สืบทอดกันมานับพันปี
ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ที่เกียวโตจะมีการจัดเทศกาลกิอง (Gion Festival) ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งใน 3 เทศกาลใหญ่ของญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับเทศกาลเท็นจิน ของโอซาก้า และเทศกาลคันดะ ของโตเกียว
รถลากยามาโฮโกะขนาดใหญ่ที่ถูกแห่ไปในใจกลางเมืองนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อนในเกียวโตเลยทีเดียว ในปีค.ศ. 2009 เทศกาลกิองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกด้านวัฒนธรรมที่ไม่มีรูปร่างโดยยูเนสโกด้วย
งานเทศกาลกิองนั้นแต่เดิมคืองานเทศกาลของศาลเจ้ายาซากะ (Yasaka Shrine) เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 869 หรือก็คือกว่าพันปีมาแล้วนั่นเอง!
ว่ากันว่าในปีนั้นมีโรคระบาดเกิดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการจัดงานเทศกาลที่เรียกว่าโกะเรียวเอะ ขึ้นเพื่อปลอบประโลมวิญญาณทั้งหลายให้สงบลง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของงานเทศกาลกิอง
หลังจากนั้นก็มีอยู่หลายครั้งที่งานเทศกาลนี้ถูกระงับไปเนื่องจากเกิดสงครามภายในประเทศ แต่ประชาชนก็ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถกลับมาจัดงานได้ใหม่ทุกครั้ง งานเทศกาลกิองจึงได้ดำเนินควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของเมืองเกียวโตจนถึงปัจจุบัน
รถลากยามาโฮโกะสุดอลังการ! ของห้ามพลาดในงานเทศกาลกิอง
ไฮไลท์ของงานเทศกาลกิองก็คือการแห่รถลากยามาโฮโกะ
รถลากยามาโฮโกะคือดาชิหรือเกี้ยวขนาดใหญ่สำหรับแห่ในงานเทศกาลของศาลเจ้านั่นเอง มีความสูงประมาณ 25 เมตร คันที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักราว 12 ตันเลยทีเดียว
เส้นทางการแห่รถลากอันแสนอลังการนั้นต้องมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เมื่อรถลากผ่านไปยังจุดใด สัญญาณไฟจราจรที่จุดนั้นก็จะถูกพับเก็บ แน่นอนว่าสัญญาณไฟจราจรทั่วไปไม่มีฟังก์ชั่นนี้แน่นอน นี่เป็นการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เข้ากับงานเทศกาลกิองโดยเฉพาะ
ไฮไลท์ของงานคือขบวนรถลากที่เคลื่อนตัวไปบนถนนใหญ่ โดยในวันซากิมัตสึริ (วันก่อนงานเทศกาล) จะมีรถลาก 23 คัน ส่วนในวันอาโตะมัทสึริ (วันหลังงานเทศกาล) จะมีอีก 10 คัน รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 33 คัน รถลากจะได้รับการประดับประดาอย่างงดงามอลังการ แต่ละคันก็จะนำแนวคิดในการตกแต่งมาจากเรื่องเล่าปรัมปราหรือเทพนิยายที่แตกต่างกันออกไป
การลากรถยามาโฮโกะต้องใช้คนราว 40 - 50 คน การเปลี่ยนทิศทางของรถเป็นมุมฉากโดยใช้พละกำลังของคนล้วนๆ ที่เรียกกันว่า "สึจิมาวาชิ" อย่างที่เห็นในภาพก็เป็นสิ่งที่ดูทรงพลังสุดๆ ลองมาชมกันให้ได้นะครับ
บนรถลากจะมีคนขึ้นไปนั่งราว 40 - 50 คน พวกเขาจะบรรเลงดนตรีที่เรียกกันว่ากิองโบยาชิ ท่วงทำนองที่บรรเลงด้วยกลองไทโกะ ขลุ่ยญี่ปุ่น และฆ้องมือก็ยิ่งทำให้ได้บรรยากาศของงานเทศกาลขึ้นไปอีก
รถลากยามาโฮโกะจะถูกประกอบขึ้นใหม่ทุกปีเพื่อนำมาใช้ในงานเทศกาลกิอง เมื่องานสิ้นสุดลงก็จะถูกแยกชิ้นส่วนครับ
เส้นทางขบวนแห่รถลากยามาโฮโกะ
หลักๆ แล้วรถยามาโฮโกะจะเคลื่อนตัวไปตามถนนชิโจ (สถานี Kawaramachi - สถานี Karasuma) ถนนคาวาระมาจิ (สถานี Kawaramachi - สถานี Kyoto Shiyakusho) และถนนโออิเคะ (สถานี Kyoto Shiyakusho - สถานี Karasume Oike)
เส้นทางดังกล่าวจะแตกต่างกันในวันซากิมัตสึริและวันอะโตะมัตสึริ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ทางการ
ตารางงานเทศกาลกิอง
งานเทศกาลกิองจะจัดขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 - 31 กรกฎาคมเหมือนกันทุกปีโดยไม่สนใจว่าจะเป็นวันใดในสัปดาห์
ช่วงที่คึกคักที่สุดได้แก่ช่วงที่เรียกว่า "โยอิยามะ" ซึ่งกินระยะเวลา 3 วัน วันซากิมัทสึริซึ่งจะมีขบวนแห่รถยามาโฮโกะ และหลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ก็จะเป็นวันอะโตะมัทสึริซึ่งมีขบวนแห่รถยามาโฮโกะเช่นกันครับ
ในวันที่ 15 และ 16 ซึ่งอยู่ในช่วงโยอิยามะนั้นจะมีการปิดถนนชิโจและถนนคาราซุมะซึ่งเป็นถนนเส้นหลักให้เป็นถนนคนเดิน และจะมีร้านค้าแผงลอยมาตั้งบนถนนคาราซุมะด้วยครับ
โยอิยามะ 14 - 16 กรกฎาคม
ซากิมัทสึริ 17 กรกฎาคม
อะโตะมัทสึริ 24 กรกฎาคม
สำหรับการเดินทางไปยังงานเทศกาลกิอง สถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดคือ สถานี Karasuma หรือ สถานี Kawaramachi ของรถไฟสาย Hankyu และ สถานี Gion Shijo รถไฟสาย Keihan เป็นต้นครับ
3 เรื่องน่ารู้ก่อนไปร่วมงานเทศกาลกิอง
เราขอแนะนำ 3 ประเด็นที่อยากทุกท่านได้รับทราบเอาไว้เพื่อที่จะสนุกไปกับงานเทศกาลได้อย่างเต็มที่ครับ
เรื่องที่ 1 : ห้องน้ำ
แม้ว่างานเทศกาลกิองจะจัดขึ้นอย่างใหญ่โต แต่ก็ไม่ได้มีห้องน้ำชั่วคราวไว้สำหรับบริการมากมายนัก ไปใช้ห้องน้ำในสถานีรถไฟหรือตามร้านสะดวกซื้อในเมืองจะดีกว่าครับ
เรื่องที่ 2 : ฝน
ในช่วงที่จัดงาน บางครั้งก็มีฝนตกอย่างกะทันหันในช่วงเย็น เราสามารถหาซื้อร่มหรือเสื้อกันฝนได้จากร้านสะดวกซื้อ เพราะฉะนั้นพกไปหรือซื้อเตรียมไว้ดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องลำบากหากมีฝนตกลงมาอย่างกะทันหัน
เรื่องที่ 3 : เงิน
ถ้าอยากซื้ออาหารหรือของฝากตามร้านแผงลอย พกเหรียญเอาไว้จะสะดวกกว่า แนะนำให้นำธนบัตรหมื่นเยนไปแลกเป็นธนบัตรย่อยเอาไว้ก่อนครับ
ซื้อบัตรจาก Voyagin ได้ที่นี่
Gion Matsuri (Festival) 2018 Grand Procession E-Tickets
มาเที่ยวเทศกาลกิองกัน!
งานเทศกาลกิองของเกียวโตนั้นถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่าพันปีแล้ว หากมาเที่ยวเกียวโตในช่วงนี้ก็ต้องหาโอกาสมาร่วมเทศกาลกิองให้ได้นะครับ!
ผู้เขียนบทความเดิม : Keishi Kawakami
บทความนี้เรียบเรียงใหม่จากบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2014
Written by
นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง