เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

เทศกาลคันดะมัตสึริ ชมขบวนพาเหรดในชุดญี่ปุ่นดั้งเดิมใจกลางโตเกียว ใกล้อากิฮาบาระ (Kanda Matsuri)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

งานเทศกาลคันดะมัตสึริ คือ งานเทศกาลประจำศาลเจ้าคันดะเมียวจินในโตเกียว เป็น 1 ใน 3 งานเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ ชิงโคไซ ขบวนพาเหรดของผู้คนในชุดญี่ปุ่นดั้งเดิมสมัยเฮอันกว่า 500 คนท่ามกลางอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่กลางเมืองโตเกียว

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

เทศกาลคันดะมัตสึริ (Kanda Matsuri)

日本三大祭の1つ神田祭〜概要・アクセス・見どころなど〜

© (องค์กรสาธารณประโยชน์) มูลนิธิการท่องเที่ยวโตเกียว

เทศกาลคันดะมัตสึริ (Kanda Matsuri) เป็นงานเทศกาลประจำ ศาลเจ้าคันดะเมียวจิน (Kanda Myojin Shrine) ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในเขตชิโยดะของโตเกียว ใกล้กับย่านอากิฮาบาระ (Akihabara) โดยเป็นหนึ่งใน 3 งานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น คู่กับ งานเทศกาลกิองมัตสึริ ในเกียวโตและงานเทศกาลเท็นจินมัตสึริ ในโอซาก้า งานเทศกาลคันดะมัตสึริมี 2 แบบคือ ฮมมัตสึริ จัดขึ้นในปีเลขคี่และ คาเกะมัตสึริ จัดขึ้นในปีเลขคู่ แต่โดยปกติแล้วเมื่อเอ่ยถึงเทศกาลคันดะมัตสึริ ก็มักจะหมายถึงงานเทศกาลฮมมัตสึริสุดคึกคักนี่แหละ

โดยเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เท็งกะมัตสึริ (งานเทศกาลรวมเป็นหนึ่ง)” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ “โทกุกาวะ อิเอยาสึ” ผู้ก่อตั้งโทกุกาวะบาคุฟุ (*1) ว่ากันว่าก่อนทำสงครามกับนายพลคนอื่นๆ เขาได้สั่งให้ลูกน้องเดินทางมาขอพรที่ศาลเจ้าคันดะให้ชนะสงคราม หลังจากนั้น “โทกุกาวะ อิเอยาสึ” ก็สามารถเอาชนะและรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จอย่างงดงาม ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรู้สึกขอบคุณศาลเจ้าคันดะและทำบุญสร้างวิหารหลักและเกี้ยวอันสง่างามขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือเกื้อหนุนของอิเอยาสึจึงทำให้งานเทศกาลที่จัดขึ้นภายในศาลเจ้าแห่งนี้มีความยิ่งใหญ่อลังการอย่างในปัจจุบัน

ส่วนไฮไลท์ประจำงานเทศกาลคันดะมัตสึริก็จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ชิงโคไซ ขบวนพาเหรดผู้คนในชุดญี่ปุ่นดั้งเดิมจาก สมัยเฮอัน กว่า 500 คนนั่นเอง ขบวนพาเหรด “ชิงโคไซ” จะเริ่มเดินทางออกจากศาลเจ้าคันดะผ่านย่านเครื่องใช้ไฟฟ้าในอากิฮาบาระและย่านสำนักงานโอเทมาจิ-มารุโนะอุจิ หลังจากนั้นก็เดินทางกลับศาลเจ้าคันดะตามเดิม บรรยาการเดินขบวนพาเหรดของผู้คนในชุดญี่ปุ่นสมัยเฮอันท่ามกลางอาคารบ้านเรือนยุคใหม่เป็นอะไรที่น่าประทับใจสุดๆ นอกจากนี้ ในวันรุ่งขึ้นถัดจากการเดินขบวนพาเหรดชิงโคไซยังมีไฮไลท์เป็นขบวนแห่ มิโคชิ(เกี้ยว) ไปรอบๆเมืองใกล้กับศาลเจ้าคันดะอีกด้วย

ในครั้งนี้เราก็ได้รวบรวมไฮไลท์และวิธีการเดินทางไปยังงานเทศกาลคันดะมัตสึริมาไว้ที่นี่เรียบร้อยแล้วล่ะค่ะ

*1 : เอโดะบาคุฟุ (รัฐบาลเอโดะโชกุน) ... ยุคสมัยภายใต้การปกครองของ “โทกุกาวะ อิเอยาสึ” ช่วงปี 1603 - 1867 หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า สมัยเอโดะ “โทกุกาวะ อิเอยาสึ” โชกุนรุ่นแรกได้ก่อตั้งรัฐบาลเอโดะโชกุนขึ้นและสืบต่ออำนาจมาเรื่อยๆจนกระทั่ง “โทกุกาวะ โยชิโนบุ” โชกุนรุ่นที่ 15 มอบอำนาจทางการเมืองกลับคืนสู่จักรพรรดิเมจิในที่สุด

กำหนดการจัดงานเทศกาลคันดะมัตสึริ (ประจำปี 2019)

ปี 2019 นี้เป็นการจัดงานเทศกาลฮมมัตสึริ โดยมีกำหนดการดังต่อไปนี้
ขบวนพาเหรดชิงโคไซ : 11 พฤษภาคม (วันเสาร์) ตลอดวัน
ขบวนแห่เกี้ยว : 12 พฤษภาคม (วันอาทิตย์) ตลอดวัน

งานเทศกาลจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤษภาคม

สถานที่จัดงานเทศกาลคันดะมัตสึริและวิธีการเดินทางมาจากสถานีรถไฟ

ทั้งขบวนพาเหรดชิงโคไซและขบวนแห่เกี้ยวในวัดถัดไปสามารถชมได้บริเวณโดยรอบ ศาลเจ้าคันดะ เดี๋ยวเรามาแนะนำวิธีการเดินทางไปยังศาลเจ้าคันดะซึ่งเป็นสถานที่จัดงานหลักกันก่อนดีกว่า

JR Akihabara Station เป็นสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดของศาลเจ้าคันดะ สำหรับใครที่เดินทางมาจากสถานีโตเกียวให้นั่งรถไฟสาย JR Yamanote (Inner Loop) มาลงที่สถานีอากิฮาบาระโดยใช้เวลาประมาณ 3 – 4 นาที ค่าโดยสาร 140 เยน หลังจากนั้นก็เดินจากประตูฝั่งย่านเครื่องใช้ไฟฟ้าของสถานีอากิฮาบาระมาประมาณ 7 นาทีก็จะถึงศาลเจ้าคันดะแล้ว

ไฮไลท์ประจำงานเทศกาลคันดะมัตสึริ

ขบวนพาเหรดชิงโคไซ

江戸っ子の熱気が秋葉原にも参入!「神田祭」の見どころポイントと楽しみ方

© (องค์กรสาธารณประโยชน์) มูลนิธิการท่องเที่ยวโตเกียว

ขบวนพาเหรด “ชิงโคไซ” จะเป็นการให้บรรดาเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาบริเวณโดยรอบศาลเจ้าคันดะสิงสถิตอยู่ในเกี้ยว “อิจิโนะมิยะโฮเร็น”, “นิโนะมิยะมิโกชิ” และ “ซันโนะมิยะโฮเร็น” โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและชำระล้างเมืองให้บริสุทธิ์ ส่วนผู้คนที่แต่งกายชุดญี่ปุ่นสมัยเฮอันเป็นผู้ติดตามเหล่าเทพเจ้าอย่างใกล้ชิด

โดยหนึ่งในไฮไลท์ประจำขบวนพาเหรดชิงโคไซเลยก็คือ “ฮิคิโมโนะ” ขนาดใหญ่นี่แหละ ฮิคิโมโนะของงานเทศกาลคันดะมัตสึริบางทีก็มาพร้อมกับรูปร่างหน้าตาสุดเอกลักษณ์ เช่น ฮิคิโมโนะจำลองหัวยักษ์และปลาดุกขนาดยักษ์ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น กลุ่มผู้คนที่ทำหน้าที่ลากฮิคิโมโนะเรียกว่า ทสึเคะมัตสึริ ทั้งฮิคิโมโนะและกลุ่มลากฮิคิโมโนะจะแตกต่างกันไปตามแต่ละปี

*2 : ฮิคิโมโนะ ... สิ่งคล้ายกับรถขนาดใหญ่ซึ่งถูกแห่หรือลากโดยกลุ่มผู้ชายตามงานเทศกาลของญี่ปุ่น บางครั้งก็เรียกกันว่า “ฮิคิยามะ”, “ยาไต” และ “ดันจิริ”

ขบวนแห่เกี้ยว

江戸っ子の熱気が秋葉原にも参入!「神田祭」の見どころポイントと楽しみ方

© (องค์กรสาธารณประโยชน์) มูลนิธิการท่องเที่ยวโตเกียว

ส่วนในวันถัดไปของงานเทศกาลคันดะมัตสึริจะมีการแห่ มิโคชิ(เกี้ยว) กว่า 100 หลังออกมาจากทั่วทั้งเมืองบริเวณโดยรอบศาลเจ้าคันดะและมุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าคันดะ โดยเรียกธรรมเนียมเหล่านี้ว่า มิโกชิมิยะอิริ บรรยากาศที่เหล่าผู้ชายสวมชุดฮัปปิ (*3) แห่เกี้ยวเป็นอะไรที่คึกคักสมกับเป็นงานเทศกาลของญี่ปุ่นสุดๆ

ในบรรดาผู้ชายแห่เกี้ยวบางคนก็สวม ฟุนโดชิ ผ้าเตี่ยวดั้งเดิมของญี่ปุ่นด้วย แถมยังมี “เทะโกะไม” เกอิชาที่แต่งกายเป็นผู้ชายเดินขบวนนำหน้าเกี้ยวอย่างสง่างามอีกต่างหาก บอกเลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!

*3 : ฮัปปิ ... ชุดดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่นิยมสวมใส่กันตามงานเทศกาล โดยคนญี่ปุ่นจะสวมใส่แบบคลุมไขว้กันด้านหน้าลำตัวเหมือนกับชุดกิโมโนโดยปรับให้ความยาวเสื้อให้อยู่ประมาณสะโพก

ชมงานเทศกาลคันดะมัตสึริด้านหน้ามิตสึโกชิเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น!

ภายในงานเดินขบวนพาเหรดชิงโคไซ ผู้คนที่สวมใส่ชุดญี่ปุ่นดั้งเดิมจะออกเดินทางมาจากศาลเจ้าคันดะ ส่วนกลุ่มลากฮิคิโมโนะจะออกเดินทางมาจากโรงเรียนประถมอาริมะแยกกัน โดยทั้งสองกลุ่มจะมารวมขบวนกันด้านหน้าห้างมิตสึโกชิ นิฮอมบาชิ (Mitsukoshi Nihonbashi) ในเวลาประมาณ 16.30 อุตส่าห์เดินทางมาชมงานเทศกาลถึงที่กันแล้วก็ขอแนะนำเป็นสถานที่ชมขบวนพาเหรดที่คึกคักที่สุดเลยจ้า เนื่องจากแถวนี้จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก จึงควรเดินทางมาสแตนบายรอล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุดค่ะ

Mitsukoshi Nihonbashi (มิตสึโกชิ นิฮมบาชิ สาขาหลัก)

ที่อยู่ : 1 Chome-4-1 Nihonbashimuromachi, Chuo, Tokyo Google Maps
การเดินทาง : จากสถานีมิตสึโกชิมาเอะ (Mitsukoshimae) ทางออก a5 ถึงทันที

* ระยะเวลาในการเดินทางและค่าโดยสารเป็นข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์หลัก ณ เดือนเมษายน 2019 ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง

Written by

Previous experience as an editor at a women's media company in Japan. I lived in Australia for a while and joined MATCHA after returning to Japan. In charge of editing, promoting sponsored content, and creative direction. I love watching Western TV series.
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ