Start planning your trip
ทานโอเด้งพร้อมชมวิวโตเกียวสกายทรีที่ร้านเก่าแก่กว่า 100 ปี อาซากุสะ โอเด้ง โอตะฟุคุ (Asakusa Oden Otafuku)
หากมีโอกาสมาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาวอยากให้ลองทานโอเด้งร้อนๆ ที่ร้าน อาซากุสะ โอเด้ง โอตะฟุคุ (Asakusa Oden Otafuku) ในย่านอาซากุสะ ใกล้ๆ แม่น้ำซุมิดะ (Sumida River) ของโตเกียว ร้านนี้เป็นร้านโอเด้งเก่าแก่ที่มีตำนานกว่า 100 ปี แถมยังมีวิวสวยๆ ของโตเกียวสกายทรีให้ชมด้วยค่ะ
โอเด้ง เป็นอาหารประเภทต้มที่นิยมทานกันในช่วงฤดูหนาว เมนูนี้ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิของญี่ปุ่น (ปี 1336 - 1573) โดยเริ่มต้นมาจากเต้าหู้เสียบไม้ราดซอสมิโซะที่เรียกว่า "โทฟุเด็นกะคุ (Tofudengaku)" ต่อมาในช่วงปลายสมัยเอโดะในแถบคันโตได้ผลิตโชยุกันอย่างแพร่หลาย อาหารประเภทต้มที่ใช้โชยุเป็นส่วนผสมหลักจึงเป็นที่นิยมตามมา และพัฒนากลายมาเป็น "โอเด้ง" ในทุกวันนี้
อาซากุสะ โอเด้ง โอตะฟุคุ (Asakusa Oden Otafuku) เป็นร้านโอเด้งเก่าแก่ตั้งอยู่ในอาคารร้านค้าย่านอาซากุสะ นอกจากจะได้ทานโอเด้งร้อนๆ ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นไปทั้งตัวแล้ว เรายังจะได้รับรู้ถึงความเป็นมาของวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นด้วยค่ะ
จุดกำเนิดและที่มาของชื่อร้าน "โอตะฟุคุ"
ชื่อร้านมาจากคำว่า "โอตะฟุคุ (Otafuku)" ในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรืองในกิจการ
เดิมทีร้านนี้ถือกำเนิดขึ้นมาที่จังหวัดโอซาก้า สาเหตุที่ทำให้ผู้ก่อตั้งตัดสินใจเปิดร้านโอเด้งเพราะว่าตอนนั้นกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สมัยเมจิ การแข่งขันของร้านอาหารในโอซาก้ามีมากยิ่งขึ้น แต่โอเด้งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ผู้ก่อตั้งร้านตั้งใจจะสร้างกระแสใหม่ๆ ในวงการร้านอาหารโอซาก้า จึงตัดสินใจเปิดร้านโอเด้งในที่สุด และเมื่อปี 1915 ก็ได้ย้ายร้านจากโอซาก้ามาที่ย่านอาซากุสะของโตเกียวค่ะ
รสชาติแบบคันไซหรือคันโต? ผสมผสานข้อดีของ 2 สไตล์
โดยทั่วไปโอเด้งมี 2 แบบ ได้แก่ แบบคันโตที่จะปรุงรสด้วยปลาแห้งคัตสึโอะบุชิและโชยุ และแบบคันไซที่ปรุงรสด้วยสาหร่ายคมบุและเกลือ ช่วงแรกทางร้านปรุงรสชาติที่ใกล้เคียงแบบคันไซเพื่อให้ถูกปากคนโอซาก้า แต่เมื่อย้ายมาที่โตเกียวก็ได้ปรับปรุงสูตรใหม่ เป็นรสชาติที่ผสมผสานความอร่อยของทั้งแบบคันโตและคันไซไว้อย่างลงตัว
การคัดสรรวัตถุดิบ
ร้านโอตะฟุคุมีเมนูโอเด้งกว่า 40 รายการ และมีกฎสำคัญในการเลือกวัตถุดิบคือ จะใส่เฉพาะวัตถุดิบที่ดึงรสชาติความอร่อยของน้ำซุปดาชิออกมาเท่านั้น ถ้าเป็นขิงดองเบนิโชกะ เห็ดหอม หรือลูกชิ้นปรุงรสแกงกะหรี่ (Curry Dango) วัตถุดิบพวกนี้ถ้าทานเปล่าๆ จะอร่อยอยู่แล้ว แต่มีรสที่เข้มเกินไปจึงไม่เหมาะที่จะนำมาทำโอเด้ง
นอกจากนี้พนักงานและพ่อครัวของที่ร้านยังดูแลใส่ใจและพูดคุยกับลูกค้าอย่างเป็นมิตร ทำให้อาหารของที่นี่ยิ่งอร่อยมากขึ้นด้วยเลยค่ะ
เมนูแนะนำของโอตะฟุคุ
ตรงกลางของภาพคือหัวไชเท้า ด้านหลังจากทางซ้ายมือคือ ชิคุวะบุ แครอท ฟุกิ (ผักบัตเตอร์เบอร์) และกัมโมโดกิ (เต้าหู้ผสมผัก)
หัวไชเท้า (ไดคง Daikon) มักจะได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งโอเด้ง ที่ร้านโอตะฟุคุก็เช่นเดียวกัน หัวไชเท้าที่ต้มในน้ำซุปดาชินิ่มจนใช้ตะเกียบเสียบทะลุเข้าไปได้ง่ายๆ เมื่อกัดลงไปจะได้กลิ่นหอมของหัวไชเท้าและน้ำซุปกระจายออกมา ทำให้เข้าใจถึงความพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบของที่ร้านได้ในทันที
หัวไชเท้า : 330 เยน
กัมโมโดกิ : 330 เยน อีกเมนูที่ห้ามพลาด เป็นเต้าหู้ผสมกับผักเช่น แครอท รากบัว โกะโบ (ผักกินราก) ความอ่อนนุ่มของเต้าหู้กับผักต่างๆ ให้รสสัมผัสที่หลากหลาย
เมนูอื่นๆ ที่ลูกค้านิยมสั่งไม่แพ้กันก็ แครอท ฟุกิ ชิคุวะบุ (*1) หากลังเลไม่ถูกว่าจะสั่งอะไรดี แนะนำให้ลองเลือกเมนูเหล่านี้รับรองจะไม่ผิดหวังค่ะ
แครอท : 110 เยน, ฟุกิ : 280 เยน, ชิคุวะบุ : 170 เยน
(ราคาด้านบนทั้งหมดรวมภาษี มีการคิดค่าบริการโอโทชิ 450 เยนต่อคน)
*1 : ชิคุวะบุ ... อาหารชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นแท่งกลมมีรูตรงกลาง ทำจากแป้งสาลี ต่างกับชิคุวะที่ใช้เนื้อปลาบดผสมด้วย
เมนูแกล้มเหล้าเอาใจนักดื่มก็มี
นอกจากโอเด้งแล้วก็ยังมีเมนูที่เข้ากันดีกับสาเกญี่ปุ่นไว้เอาใจลูกค้าที่เป็นนักดื่มด้วย เมนูแนะนำคือ เอ็นเนื้อตุ๋น (Gyusuji no Nikomi) ราคารวมภาษี 1,000 เยน และ มากุโระนุตะ (Maguro Nuta) ราคารวมภาษี 1,100 เยน
เอ็นเนื้อตุ๋นรสออกหวานนิดๆ สามารถทานได้เรื่อยๆ เนื้อส่วนนี้มีไขมันแทรก แทบจะละลายในปากเลย
มากุโระนุตะใช้เนื้อปลาส่วนที่มีไขมันน้อย ทานคู่กับต้นหอมวาเคกิดองและมิโซะแดง รสเข้มข้น เป็นเมนูอร่อย 3 เด้ง ทั้งเนื้อที่นุ่มละมุนลิ้น รสของต้นหอมวาเคกิที่ทำให้รู้สึกสดชื่น และรสเข้มข้นของมิโซะแดง
อย่าลืมหยิบแผ่นไม้ไปด้วยตอนจ่ายเงิน
แคชเชียร์ที่อยู่ติดกับประตูทางเข้าตกแต่งในสไตล์เรโทร ราวกับทางร้านตั้งใจจะคงสภาพเมื่อร้อยกว่าปีก่อนตอนที่เปิดร้านเอาไว้ หากสังเกตดูจะพบว่ามีแผ่นไม้ทรงกลมแขวนอยู่ที่ด้านหน้าเคาน์เตอร์ บนแผ่นไม้จะเขียนหมายเลขโต๊ะที่เราที่นั่งเอาไว้ด้วยค่ะ
ตอนมานั่งที่โต๊ะพนักงานจะนำแผ่นไม้ที่มีหมายเลขมาให้ ตอนจ่ายเงินให้นำแผ่นไม้นี้ไปยื่นกับพนักงานตรงเครื่องแคชเชียร์ด้วยนะคะ
อาซากุสะ โอเด้ง โอตะฟุคะ ตำนานความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น
นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะรู้สึกว่าโอเด้งเป็นอาหารดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่สำหรับ อาซากุสะ โอเด้ง โอตะฟุคะ โอเด้งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ความแพร่หลายของอาหารญี่ปุ่น ด้วยความภาคภูมิใจนี้ทางร้านจึงได้ส่งต่อความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานกว่า 100 ปี
東京に出てきて8年目です。
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง