AEON MALL Natori ชอปสบาย มาสะดวกจากสนามบินเซ็นไดแค่ 7 นาที

รู้ไว้ไม่เสียหาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติของญี่ปุ่น

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็หาทางแก้ไขและรับมือมาตลอด ลองมาดูเป็นข้อมูลคร่าวๆ ว่าญ๊่ปุ่นต้องเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติอะไรบ้าง เป็นการเตรียมตัวกันไว้ครับ

บทความโดย

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

more

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้

รู้ไว้ไม่เสียหาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติของญี่ปุ่น

photo by Pixta
ภัยพิบัติทางธรรมชาตินอกจากจะคาดการณ์ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะประเทศไหนก็มีโอกาสเจอได้ไม่ต่างกัน ที่ญี่ปุ่นเองในแต่ละปีก็เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมายตั้งแต่แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ในครั้งนี้ขอแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น รวมถึงข้อควรระวังครับ

ลองอ่านบทความนี้ไว้ล่วงหน้า เผื่อว่าระหว่างมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วพบเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจะได้ไม่ต้องตื่นตระหนกและจะได้รู้วิธีรับมือกันครับ

แผ่นดินไหว

地震

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลก นอกเหนือจากแผ่นดินไหวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งปี ญี่ปุ่นเคยประสบกับแผ่นดินไหวใหญ่มาหลายครั้ง เช่น วันที่ 1 กันยายน 1923 แผ่นดินไหวใหญ่คันโต, วันที่ 17 มกราคม 1995 แผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิน - อาวาจิ ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกเบ, วันที่ 11 มีนาคม 2011 แผ่นดินไหวใหญ่ฮิกาชินิฮง, เมษายน 2016 แผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะ และวันที่ 18 มิถุนายน 2018 แผ่นดินไหวทางตอนเหนือของโอซาก้า ที่ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกมากมาย

ビル

แม้แผ่นดินไหวใหญ่จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ญี่ปุ่นเองก็มีการเตรียมรับมืออยู่เสมอ เช่น มาตรฐานสิ่งปลูกสร้างต้านทานแผ่นดินไหว ที่กำหนดใช้ในปี 1981 ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนใดๆ ก็ต้องได้รับการออกแบบและสร้างเพื่อให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ไม่พังถล่มลงมาเพื่อป้องกันการสูญเสีย

แต่ละภาคส่วนก็มีการทำคู่มือและฝึกซ้อมวิธีรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติอยู่เสมอ

ถ้าเจอแผ่นดินไหวจะทำยังไง

ถ้าเกิดเจอแผ่นดินไหวระหว่างมาเที่ยวญี่ปุ่นจะทำยังไงดี คนรู้จักก็ไม่มี ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่เข้าใจ

ก่อนอื่นคืออย่าเพิ่งรีบวิ่งออกไปด้านนอกในทันที บางครั้งเราอาจะรู้สึกว่าอาคารสั่นไหวรุนแรงมาก อันนั้นเป็นไปตามหลักการถ่ายเทแรงสั่นไหวเพื่อไม่ให้อาคารถล่ม ที่ต้องระวังคือสิ่งของที่จะตกลงมาใส่หัว ออกห่างจากจุดที่มีสิ่งของด้านบน ป้องกันศีรษะ รอให้หยุดไหวแล้วค่อยอพยพ

ลองอ่านวิธีป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว จัดทำโดยหน่วยดับเพลิงโตเกียว ที่นี่ (ภาษาไทย)
หรือ คู่มือรับมือภัยพิบัติ จัดทำโดยเมืองโตเกียว ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)

สึนามิ

รู้ไว้ไม่เสียหาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติของญี่ปุ่น

photo by Pixta
หลังจากแผ่นดินไหวสงบลง ก็ยังคงต้องระวังเรื่องอัคคีภัยและอาคารถล่ม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล เพราะบางครั้งแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ใต้ทะเล ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดสึนามิตามมาได้ อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ฮิกาชินิฮง ที่มีคลื่นสึนามิสูงราว 17 เมตร พัดเข้าถล่มบ้านเรือนริมชายฝั่งทะเลเสียหายมากมาย

ถ้าเจอสึนามิจะทำยังไง

พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่จะมีสัญญาณไซเรนเตือนภัยที่จะดังเตือนหากมีความเสี่ยงที่จะเกิดสึนามิ ถ้าได้ยินเสียงไซเรนแล้วให้รีบออกห่างจากฝั่งทะเลและหนีขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการสังเกตปฏิกิริยาของคนญี่ปุ่นที่อยู่รอบๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

การหนีขึ้นอาคารบ้านเรือนก็มีเรื่องที่ต้องระวัง เพราะถ้าเป็นอาคารที่สร้างจากไม้ ก็อาจจะโดนคลื่นและซากสิ่งของต่างๆ มาชนปะทะจนถล่มได้ เพราะงั้นถ้าเป็นไปได้ให้หาพื้นที่สูงเช่นเขาหรือเนินสูงจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ให้หนีขึ้นอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีต ยิ่งสูงยิ่งดี

พายุไต้ฝุ่น

台風

ในช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน จะเป็นฤดูมรสุมของญี่ปุ่น มีพายุหลายลูกพัดผ่านเข้ามาจากทางใต้ อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทำให้มีลมแรง ฝนตกหนัก อาจส่งผลให้การคมนาคมหยุด และร้านค้าปิด

ถ้าเจอพายุไต้ฝุ่นจะทำยังไง

ถึงจะอดเที่ยว แต่ก็แนะนำว่าไม่ควรออกไปข้างนอก เพราะนอกจากลมและฝน อาจมีสิ่งของต่างๆ เช่นป้ายปลิวมาตามลมด้วย

ไต้ฝุ่นจะพัดจากทางใต้ไปเหนือ และค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อพัดขึ้นฝั่ง ทำให้ทางฮอกไกโดที่อยู่ทางตอนเหนือมีโอกาสเจอไต้ฝุ่นน้อยมาก ในทางกลับกันโอกินาว่าที่อยู่ทางตอนใต้จะเจอไต้ฝุ่นบ่อยมาก ถ้าอยากจะไปเที่ยวโอกินาว่าในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้ตรวจสอบเรื่องสภาพอากาศให้ดี

ถ้ามาในหน้าหนาว ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องไต้ฝุ่นเลย

ฤดูฝน และช่วงที่ฝนตกหนักก็ควรระวัง

ฤดูฝนของญี่ปุ่นคือเดือนมิถุนายน แม้จะไม่มีฝนตกรุนแรง แต่ก็อาจทำให้การท่องเที่ยวลำบาก และกิจกรรมกลางแจ้งหลายแห่งอาจยกเลิกได้

ในวันที่ฝนตกหนักไม่ควรไปใกล้ภูเขาหรือแม่น้ำ เพราะอาจเกิดดินถล่ม หรือน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่งได้

อีกอย่างคือถ้าอยู่ใต้ดินก็อาจเจอน้ำท่วมได้ ในกรณีที่มีพายุไต้ฝุ่นหรือฝนตกหนักแนะนำให้ขึ้นไปอยู่เหนือพื้นดินจะดีกว่า

หิมะตกหนัก

大雪

พื้นที่ทางตอนเหนืออย่างฮอกไกโด ภูมิภาคโทโฮคุ และจังหวัดริมฝั่งทะเลญี่ปุ่นอย่างจังหวัดนีงาตะนั้น มีโอกาสที่จะเจอหิมะตกหนักในช่วงฤดูหนาวได้ แม้คนในพื้นที่จะชินกับหิมะที่ตกหนักทุกปีอยู่แล้ว แต่ถ้าปริมาณหิมะเยอะมากๆ ก็อาจทำให้ระบบสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า แก๊สน้ำประปาไม่ทำงานได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นที่โตเกียวที่ไม่ค่อยมีหิมะตกสักเท่าไหร่ แค่หิมะตกหนาไม่กี่เซนติเมตรก็อาจทำให้ระบบขนส่งรวนได้แล้ว

ถ้าเจอหิมะตกหนักจะทำยังไง

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อมีหิมะตกหนักคือ หิมะถล่ม และอุบัติเหตุบนท้องถนน

ตามทางลาดต่างๆ ที่หิมะทับถมกันหนา อยู่ๆ ก็อาจจะไหลถล่มลงมาได้ ถ้าโดนหิมะถล่มทับจะอันตรายมากเพราะเราจะไม่สามารถขยับร่างกายแล้วหนีออกมาเองได้เลย เวลาเดินควรหลีกห่างจากทางลาดเช่นริมเนินเขา

雪道

ส่วนบนท้องถนน หิมะอาจจะละลายแล้วกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้รถที่วิ่งไปมาลื่นไถล เบรกไม่อยู่ หรืออาจเป็นเราเองที่เดินแล้วลื่นล้ม ต้องระวังให้ดีทั้งรถและตัวเอง ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่แนะนำให้ออกไปข้างนอกเท่าไหร่ แต่ถ้าต้องออกจริงๆ แนะนำให้ใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่น หรือใส่อุปกรณ์กันลื่มเสริมเอา

บางครั้งเครื่องบินอาจหยุดบิน ต้องตรวจสอบกันให้ดี

บางพื้นที่ที่มีหิมะตกหนักทุกปีอยู่แล้วก็มักจะมีเทศกาลหรือกิจกรรมเกี่ยวกับหิมะให้ได้สนุกกัน ถ้าจะไปก็อย่าลืมเรื่องเสื้อผ้าและอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อมด้วยนะ

ภูเขาไฟระเบิด

รู้ไว้ไม่เสียหาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติของญี่ปุ่น

photo by Pixta
ว่ากันว่าถ้าขุดดินลงไปลึกๆ ไม่ว่าจะตรงไหนในญี่ปุ่น ก็จะมีน้ำพุร้อนออนเซ็นพุ่งออกมาแน่นอน เพราะใต้ดินของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยทางไหลของแม็กม่า อย่างภูเขาฟูจิก็เป็นหนึ่งในภูเขาไฟเช่นกัน

การระเบิดของภูเขาไฟจะต่างกับแผ่นดินไหวตรงที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวลูกเล็กๆ ต่อเนื่องจำนวนมาก หรือมีควันพวยพุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟเป็นต้น ถ้าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจะมีการประกาศออกข่าวอย่างแน่นอน เพราะงั้นสามารถติดตามข่าวสารตามที่ต่างๆ ได้

รู้ไว้ไม่เสียหาย เผื่อกรณีฉุกเฉิน

横浜防災

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติโดยไม่ตื่นตระหนก มีสถานที่ที่สามารถไปเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ภัยพิบัติจำลองได้ฟรี เช่น หน่วยดับเพลิงอิเคะบุคุโระ

หรือจะเป็น JNTO (องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น) ที่ได้จัดทำเว็บไซต์พิเศษ Safety tips for travelers (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อมูลด้านต่างๆ และแอปพลิเคชั่นก็มีทั้งสำหรับ iOS และ Android ที่จะส่งข้อความเตือนเมื่อมีภัยพิบัติ

ถ้าเจอภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินรุนแรง

ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ได้รับอันตรายระหว่างท่องเที่ยวขอให้ติดต่อไปยังฮอตไลน์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
● โทรด้วยเบอร์โทรศัพท์ในประเทศญี่ปุ่นกด 090-4435-7812
● โทรด้วยเบอร์โทรศัพท์ต่างประเทศกด +81-90-4435-7812

วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ก่อกำเนิดขึ้นเคียงคู่กับธรรมชาติ

自然

ถึงญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ต้องประสบกับภัยพิบัติมากมาย แต่ชาวญี่ปุ่นก็พยายามที่จะดำเนินชีวิตไปพร้อมกับธรรมชาติ จนเรียกได้ว่าประเพณีและวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นมาท่ามกลางภัยธรรมชาติ ไม่แน่ว่าวัฒนธรรมการแช่ออนเซ็นอาจเกิดขึ้นเพราะมีภูเขาไฟมากมายทั่วประเทศ และรูปแบบอาคารบ้านเรือนของญี่ปุ่นก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาเรื่อยมาเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น และหิมะ ก็หวังเพียงว่าทุกคนจะยังคงรักและให้ความสนใจในประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงครับ

ผู้เขียนบทความเดิม : Hiromasa Uematsu
* บทความนี้เป็นการนำบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2015 มาเรียบเรียงใหม่

Written by

นี่คือบัญชีของกองบรรณาธิการ MATCHA เราจะเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวอยากรู้ รวมถึงเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีใครรู้จัก

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ