Unseen Japan สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งฤดูหนาวของเมืองมัตสึโมโตะ 2 วัน 1 คืน

เรื่องราวของชาว LGBTQ ในสังคมญี่ปุ่น : การท่องเที่ยว กีฬา อีเวนท์ และการสนับสนุน

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่ประเทศที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศส่วนบุคคล บทความนี้ขอแนะนำสถานที่และกิจกรรมที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ อย่างชินจูกุนิโจเมะ โรงแรม คาเฟ่ และ Tokyo Rainbow Pride Week ให้รู้จักกัน

บทความโดย

Born in 1959. Currently working as a freelance translator, after 21 years in various companies.

more

สถานการณ์ของชาว LGBTQ ในญี่ปุ่น

LGBTQ-Friendly Japan: Travel And Entertainment, Events, And Support

สังคมญี่ปุ่นเปิดกว้างต่อชาว LGBTQ แค่ไหน?

เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ผู้เขียนรู้สึกว่าญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่ประเทศที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ อย่างเทศกาลไพรด์ (Pride Week) ที่จัดโดยชาว LGBTQ และ LGBTQ Ally (พันธมิตร LGBTQ) (* 1) รวมถึงย่านชินจูกุนิโจเมะของโตเกียวก็มีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศด้วย

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เริ่มมีการยอมรับสิทธิในการมีความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งที่เปิดให้จดทะเบียนคู่ชีวิต (ไม่ใช่ทะเบียนสมรส) แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังอยู่ระหว่างทาง บทความนี้ขอแนะนำกฎหมายและสถานการณ์ทางสังคมของชาว LGBTQ รวมถึงสถานบันเทิง อีเวนท์ และองค์กรที่ให้การสนับสนุนชาว LGBTQ

1: พันธมิตร LGBTQ คำที่ใช้เรียกผู้ที่สนับสนุนและเข้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
LGBTQ ในบทความนี้ หมายถึง เลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง), เกย์ (ชายรักชาย), ไบเซ็กชวล (คนที่รักทั้งสองเพศ), ทรานส์เจนเดอร์ (คนข้ามเพศ), เควียร์ (คนไร้เพศ ผู้ที่มีความลื่นไหลทางเพศ หรือยังหาตัวตนอยู่)

สารบัญ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBTQ

LGBT-Friendly Japan: Travel And Entertainment, Events, And Support

Photo by PIXTA

ปัจจุบัน เดือนกรกฎาคม 2020 กฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้ที่พบปัญหาจากรสนิยมทางเพศของตนยังไม่ได้ปรับให้เหมาะสมเต็มที่ กฎหมายของญี่ปุ่นไม่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ดังนั้นการเปิดเผยรสนิยมทางเพศในญี่ปุ่นถือได้ว่าอาจมาพร้อมกับความยุ่งยากหลายอย่าง

ท่านที่กังวลลองสำรวจหาที่พักและร้านที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ ไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางนะคะ

ภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่นยังเป็นเรื่องยาก แต่ตามที่ระบุไว้ข้างต้นว่ารัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ยอมรับความสัมพันธ์แบบชีวิตคู่ของเพศเดียวกัน

ในเดือนมกราคม 2020 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 34 แห่ง (*) ทั่วญี่ปุ่น รวมทั้งเขตชิบุยะ เขตเซตากายะ เขตโทชิมะ และเขตเอโดกาวะ (ของโตเกียว) ได้นำการจดทะเบียนคู่ชีวิตมาใช้ แม้จะต่างจากการจดทะเบียนสมรส แต่เป็นระบบรับรองความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนเข่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรส

ในปี 2020 ซีรีส์ยอดนิยม Queer Eye : We’re in Japan มีการจัดทำเวอร์ชั่นโตเกียวและเผยแพร่ใน Netflix ซีรียส์ Queer Eye เป็นเรื่องราวของเกย์ 5 คนทำการเมคโอเวอร์ผู้ชายที่ต้องการเปลี่ยนตัวเอง นี่คงพอแสดงออกได้ว่าญี่ปุ่นกำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมที่เปิดกว้างแก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

คุณนิชิมูระ โคโด (Nishimura Kodo) พระญี่ปุ่นและช่างแต่งหน้าชื่อดังระดับโลก ก็เป็นหนึ่งในชาว LGBT ด้วย นอกจากนี้ยังมีคุณอิชิคาวะ ทาอิกะ (Ishikawa Taiga) และคุณโอตสึจิ คานาโคะ (Otsuji Kanako) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประกาศว่าพวกเขาเป็นชาวรักร่วมเพศ และเรียกร้องว่านักการเมืองทุกคนควรยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการยอมรับและสนับสนุนชาว LGBTQ อ่านเพิ่มในหัวข้อองค์กรที่สนับสนุนชาว LGBTQ ซึ่งได้แนะนำไว้ในส่วนหลังของบทความ

* ที่มา : หนังสือพิมพ์อาซาฮิ "การจดทะเบียนคู่ชีวิตอันเป็นที่พึ่งพิงทางใจ แต่ยังมีกำแพงสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน..." (ภาษาญี่ปุ่น)

ย่านที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ

โตเกียว : ชินจูกุนิโจเมะ (Shinjuku Nichome)

Shinjuku Station area

สถานีชินจูกุใกล้กับนิโจเมะ (Photo by PIXTA)

ชินจูกุนิโจเมะในโตเกียวเป็นย่านชาว LGBTQ ที่มีชื่อที่สุดในญี่ปุ่น มีแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนอย่างบาร์ คลับ และร้านอาหารมากมายเรียงราย เป็นย่านที่ผู้ชอบเที่ยวกลางคืนห้ามพลาด สถานีชินจูกุซังโจเมะ (Shinjuku-Sanchome) ของรถไฟใต้ดินโตเกียวเมโทร (Tokyo Metro) เป็นสถานีที่ใกล้ที่สุด แต่สามารถเดินจากสถานี JR ชินจูกุ (JR Shinjuku) ได้

ย่านนี้มีบาร์ต่างๆ ให้เลือกมากมายอย่างบาร์เกย์และบาร์เลสเบี้ยน เหมาะที่ออกมาสนุกกับคู่รักหรือกลุ่มเพื่อน สามารถเต้นรำให้สุดเหวี่ยงที่บาร์เกย์ชื่อดังอย่าง Arty Farty และ Dragon Men ได้นะคะ

ท่านที่เที่ยวแบบผ่อนคลายมากกว่านี้ลองไปที่บาร์เลสเบี้ยน Bar Gold Finger หรือ adezakura บางร้านอาจมีกฎการเข้าร้านต่างกันตามวันและเวลา ควรตรวจสอบล่วงหน้าก่อนไปค่ะ

เมืองโอซาก้า : โดยามาโจ (Doyamacho)

LGBT-Friendly Japan: Travel And Entertainment, Events, And Support

ละแวกโดยามาโจ เมืองโอซาก้า (Photo by PIXTA)

โดยามาโจ ย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองโอซาก้าเป็นพื้นที่ที่ยอมรับชาว LGBTQ ย่านคึกคัก มีทั้งบาร์ คลับ อิซากายะ และร้านคาราโอเกะอยู่ในละแวกที่เดินจากสถานีโอซาก้าและสถานีอุเมดะ (Umeda) ได้ คล้ายกับชินจูกุนิโจเมะ มีการจัดอีเวนท์ต่างๆ เป็นประจำเพื่อให้คุณได้สนุกกับเพื่อนๆ

ขอแนะนำ Frenz Frenzy Rainbow Haven บาร์เกย์ยอดนิยมซึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศอย่างเลดี้ กาก้าและอดัม แลมเบิร์ต เคยมาเยือน

อย่าพลาดไปชมการแสดงที่ VILLAGE บาร์เกย์เก่าแก่ ส่วนท่านที่อยากดื่มเหล้าช่วงดึกๆ ขอแนะนำ G Physique Osaka ที่เป็นมิตรกับลูกค้าชาวต่างชาติ

ข้อควรระวัง คือ บาร์และคลับในพื้นที่นี้อาจมีกฎการเข้าร้านแตกต่างกันเหมือนที่ชินจูกุนิโจเมะ บางร้านจะให้บริการเฉพาะคนบางกลุ่มต่างกันไปตามวันและเวลา หากมีเพื่อนที่คุ้นเคยหรือเชี่ยวชาญ ให้เพื่อนช่วยพาไปดีกว่าค่ะ

โรงแรม คาเฟ่ สถานที่ท่องเที่ยวที่ใช้บริการได้อย่างสบายใจ

นอกจากชินจูกุนิโจเมะและโดยามาโจในโอซาก้าแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ อีกหลายแห่งค่ะ

โตเกียว : โรงแรม

cen hotel shinjuku

จากบทความ : CEN DIVERSITY HOTEL & CAFÉ โรงแรมแห่งความหลากหลาย ที่สานสายรุ้งในมหานครโตเกียว

CEN DIVERSITY HOTEL & CAFÉ โรงแรมในชินจูกุซึ่งยินดีต้อนรับแขกที่มาพักโดยไม่จำกัดสัญชาติหรือเพศ ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มีผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการในห้องพักซึ่งคัดสรรอย่างดี ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ และพนักงานทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับ LGBT

ยังมีโรงแรม Keio Plaza Hotel ในเขตชินจูกุซึ่งยินดีต้อนรับชาว LGBTQ เช่นกัน และยังเคยจัดทัวร์ชินจูกุนิโจเมะสำหรับแขกที่มาพักด้วย


โตเกียว : คาเฟ่

shinjuku dialogue

จากบทความ : Shinjuku Dialogue: A Sustainable Vegan-Friendly Cafe For All

ในโตเกียวยังมีร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งที่เป็นมิตรกับชาว LGBTQ และสามารถใช้บริการได้สะดวกสบายใจ หนึ่งในนั้นคือ Shinjuku Dialogue (รูปด้านบน) ร้านตั้งอยู่ใกล้กับชินจูกุเกียวเอ็น (Shinjuku Gyoen) ที่ได้เพลิดเพลินกับอาหารวีแกนและยังมีส่วนช่วยการระดมเงินทุนสนับสนุน SDGs (Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ) โดยการสั่งเครื่องดื่มด้วย ส่วนกลางคืนจะเปิดเป็นบาร์ค่ะ

หากมีโอกาสไปเยี่ยมชมอาซากุสะ ลองไปชิมแกงกระหรี่วีแกนหลากสีสันมีทั้งสีชมพูและสีฟ้าที่ คาเฟ่ PQ's พ่อครัวและเจ้าของเป็นมิตรและบรรยากาศก็เป็นกันเองมากเลยค่ะ



โอซาก้า : วัดโชเซ็นจิ (Shozen-ji Temple)

shozenji

จาก "วัดโชเซ็นจิ วัดแห่งแรกในญี่ปุ่นที่สร้างโดยแม่ชีข้ามเพศ เพื่อให้ชาว LGBTQ เป็นตัวของตัวเอง"

วัดโชเซ็นจิตั้งอยู่ในเมืองโมริกุจิ (Moriguchi) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโอซาก้า เป็นวัดพุทธที่ยอมรับชาว LGBTQ เจ้าอาวาสเป็นผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เปิดรับผู้คนทั้งหมดโดยไม่จำกัดเพศหรือศาสนา


อีเวนท์ของชาว LGBTQ ในญี่ปุ่น

tokyo rainbow pride

งาน Tokyo Rainbow Pride Parade ในปี 2019
Picture courtesy of Tokyo Rainbow Pride

อีเวนท์ที่สนับสนุนชาว LGBTQ ดำเนินการโดยองค์กร NGO (องค์กรสาธารณะประโยชน์) มีจัดตลอดทั้งปี ขบวนพาเหรดจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โตเกียวในปี 1994 จากนั้นจึงมีการจัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ต่อมา

อีเวนท์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Tokyo Rainbow Pride Week ทุกปีจะมีขบวนพาเหรดในชิบุยะและฮาราจูกุ รวมทั้งมีการจัดงานเทศกาลและการแสดงคอนเสิร์ตในสวนโยโยกิ (Yoyogi Park) ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม โดยในปี 2019 มีผู้เข้าร่วมมากถึง 200,000 คน (ในปี 2020 มีการจัดงานทางออนไลน์)

rainbow pride tokyo

งานTokyo Rainbow Pride Week ปี 2019
Picture courtesy of Tokyo Rainbow Pride

Tokyo Rainbow Pride Week เป็นอีเวนท์ที่ผู้เข้าร่วมทุกคนเคารพความสุขของกันและกันโดยไม่จำกัดว่าเป็นชาว LGBTQ หรือไม่ ท่านที่มาเยือนโตเกียวในช่วงที่จัดงานก็ลองแวะไปดูนะคะ คุณจะยิ้มได้ด้วยพลังที่ผู้เข้าร่วมมากมายมอบให้กันค่ะ

ส่วนงาน Rainbow Festa จัดขึ้นทุกปีในโอซาก้า มีผู้คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นตะวันตกมากมายมารวมตัวกัน

ปี 2019 มีคนราว 10,000 คน เข้าร่วมอีเวนท์อย่างพาเหรดและอื่นๆ เป็นงานที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ส่วนปี 2020 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 10 - 11 ตุลาคม (อาจมีการเปลี่ยนแปลงโปรดตรวจสอบก่อน)

การสนับสนุนชาว LGBTQ ในญี่ปุ่น

LGBTQ-Friendly Japan: Travel And Entertainment, Events, And Support

ในโตเกียวมี Community Center Akta ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับชาว LGBTQ ที่นี่มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับโรคเอดส์หรือการติดเชื้อเอชไอวี (HIV/AIDS) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อการยอมรับชาว LGBTQ และในฐานะผู้ให้ความรู้แห่งหนึ่ง องค์กรยังได้มอบถุงยางอนามัยให้กับบาร์ต่างๆ ในชินจูกุนิโจเมะด้วย

พนักงานทุกคนเป็นมิตร มีพื้นที่ว่างให้พักผ่อนหย่อนใจขณะรอข้อมูล แต่อาจให้บริการด้วยภาษาอังกฤษได้ไม่สมบูรณ์นัก

ส่วนภูมิภาคอื่นๆ มี Stonewall Japan (ลิงค์ภาษาอังกฤษ) องค์กรที่ให้การสนับสนุน LGBTQ ชาวต่างชาติทั่วญี่ปุ่น โดยมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในเฟสบุ๊ค มีการจัดอีเวนท์อยู่เสมอ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

LGBTQ กับญี่ปุ่น

ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้ ทำให้เห็นได้ว่าญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาว LGBTQ กับองค์กรและหน่วยงานที่สนับสนุนค่ะ ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า สภาพทางสังคมของญี่ปุ่นค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่น ลองมองหาที่ซึ่งคุณรู้สึกสบายใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง ขณะที่สัมผัสถึงสภาพสภาพทางสังคมของญี่ปุ่นในปัจจุบันดูนะคะ

บทความโดย

Shinji Takaramura

Born in 1959. Currently working as a freelance translator, after 21 years in various companies.

more
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง