เมืองมุราคามิ จังหวัดนีงาตะ: ทัวร์ชมตุ๊กตาฮินะในมาชิยะ พร้อมเพลิดเพลินกับกิจกรรม ที่เที่ยว และอาหารท้องถิ่น

เยือนเมืองช่างฝีมือโลหะ ตีแก้วทองแดงด้วยตัวเองที่เมืองสึบาเมะซันโจ นีงาตะ (Tsubamesanjo, Niigata)

บริการนี้รวมโฆษณาที่ได้รับการสนับสนุน
article thumbnail image

ตะลุยเที่ยว 4 เมืองในจังหวัดนีงาตะ เริ่มที่สึบาเมะซันโจ เมืองแห่งช่างฝีมือโลหะ พวกช้อนส้อมกว่า 90% ของญี่ปุ่นก็มาจากที่นี่ และมีให้ลองตีแก้วทองแดงทำของที่ระลึกด้วย

วันที่ปรับปรุงล่าสุด :

เที่ยว 4 เมือง 4 สไตล์ในนีงาตะ

จังหวัดนีงาตะ (Niigata) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโตเกียว ตัวจังหวัดจะออกแนวยาวเลียบทะเลญี่ปุ่นจากเหนือไล่ลงมาทางใต้ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วพูดชื่อนีงาตะจะนึกถึงข้าวกับสาเกขึ้นมาก่อนเลย โดยเฉพาะข้าวพันธุ์โคชิฮิคาริ ของเขตอุโอนุมะ ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าวที่อร่อยและคุณภาพดีที่สุด แน่นอนว่าพอมีข้าวคุณภาพดีก็ต้องผลิตสาเกรสเยี่ยมได้ด้วย

เชื่อว่าคนไทยหลายคนเคยไปนีงาตะกันมาแล้ว แต่มักจะไปหยุดกันอยู่ที่เมืองยูซาว่า เพราะที่นั่นเป็นเมืองหิมะแล้วก็มีลานสกีเยอะมาก ที่ดังๆ ก็ลานสกีกาล่ายูซาว่าและลานสกีนาเอบะ คราวนี้เลยขอเที่ยวให้ลึกเข้าไปในตัวจังหวัดนีงาตะอีกหน่อยกับ 4 เมือง 4 สไตล์

เยือนเมืองช่างฝีมือโลหะ ตีแก้วทองแดงด้วยตัวเองที่เมืองสึบาเมะซันโจ นีงาตะ (Tsubamesanjo, Niigata)

เริ่มเดินทางจากโตเกียวขึ้นไปทางเหนือที่เมืองสึบาเมะซันโจ (Tsubamesanjo) เมืองแห่งช่างฝีมือโลหะ ต่อด้วยเมืองยาฮิโกะ (Yahiko) เมืองออนเซ็นและภูเขาแห่งเทพ

จากนั้นนั่งรถไฟลงมาที่เมืองโอจิยะ (Ojiya) เมืองแห่งปลาคาร์ปนิชิกิ และปิดท้ายที่เมืองโทคามาจิ (Tokamachi) เมืองแห่งศิลปะสุดอาร์ต ที่อยู่ติดกับเมืองยูซาว่า ก่อนกลับมาโตเกียว

ในตอนที่ 1 นี้ขอพาไปนั่งชินคันเซ็นจากโตเกียวไปเมืองสึบาเมะซันโจ (Tsubamesanjo) เมืองแห่งช่างฝีมือโลหะ ทดลองงานเครื่องทองแดงตีมือทำแก้วน้ำของตัวเอง และชมช่างฝีมือทำงานจริงๆ อย่างใกล้ชิดในโรงงาน

ตอนที่ 2 และ 3 สามารถอ่านต่อได้จากบทความด้านล่างนี้

ท่องไปในทุ่งศิลป์ของเมืองโทคามาจิ Tsumari Art Field จังหวัดนีงาตะ

ท่องไปในทุ่งศิลป์ของเมืองโทคามาจิ Tsumari Art Field จังหวัดนีงาตะ

สารบัญ

เมืองสึบาเมะซันโจ เมืองแห่งช่างฝีมือเหล็ก
    ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมสึบาเมะซันโจ ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของสึบาเมะซันโจ
    พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมเมืองสึบาเมะ ลองตีแก้วทองแดงเป็นของที่ระลึก
    เกียคุเซ็นโด โรงงานเครื่องทองแดงตีมือประวัติ 200 ปี
    จุดน่าแวะระหว่างทาง
         - โคชูฮันเท็น ต้นตำรับสึบาเมะราเม็ง

การเดินทางจากโตเกียว

การเดินทางจากโตเกียวที่สะดวกสุดคือนั่งรถไฟสายโจเอ็ตสึชินคันเซ็น (Joetsu Shinkansen) ขึ้นจากสถานีโตเกียวหรืออุเอโนะก็ได้

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีพาสราคาประหยัดที่ใช้ได้คือ JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) และ JAPAN RAIL PASS

พาส JR EAST PASS (Tohoku area) กับ JR TOKYO Wide Pass จะนั่งจากโตเกียวไปสุดแค่สถานี GALA Yuzawa เท่านั้น

JR EAST PASS (Nagano, Niigata area)

JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) ใช้นั่งรถไฟสายธรรมดาและชินคันเซ็นของ JR ได้ไม่จำกัดทั่วโตเกียว จังหวัดรอบข้าง จังหวัดนากาโนะ และจังหวัดนีงาตะ

*ราคาตั๋วในตารางนี้คือราคาเมื่อซื้อในประเทศญี่ปุ่น ถ้าซื้อจากตัวแทนจำหน่ายนอกญี่ปุ่นจะราคาถูกลงอีก

ผู้ใหญ่
(อายุ 12 ปีขึ้นไป)
เด็ก
(อายุ 6-11 ปี)
18,330 เยน 9,160 เยน

JAPAN RAIL PASS

JAPAN RAIL PASS พาสตัวใหญ่สุดที่ใช้นั่งรถไฟของ JR ได้ไม่จำกัดทั่วประเทศ เหมาะสำหรับคนที่วางแผนเที่ยวหลายจังหวัด ข้ามระหว่างภูมิภาค

*ราคาตั๋วในตารางนี้คือราคาสำหรับที่นั่งชั้นธรรมดาเมื่อซื้อในประเทศญี่ปุ่น ถ้าซื้อจากตัวแทนจำหน่ายนอกญี่ปุ่นจะราคาถูกลงอีก

ผู้ใหญ่
(อายุ 12 ปีขึ้นไป)
เด็ก
(อายุ 6-11 ปี)
7 วัน 33,610 เยน 16,800 เยน
14 วัน 52,960 เยน 26,480 เยน
21 วัน 66,200 เยน 33,100 เยน

คนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นจะใช้ JR พาส 2 อันข้างบนนี้ไม่ได้ แต่ทาง JR ก็มีพาสอื่นๆ หรือบางทีก็เป็นส่วนลดสำหรับคนที่จองตั๋วรถไฟชินคันเซ็นล่วงหน้า ยิ่งล่วงหน้านานก็ยิ่งได้ราคาถูก ลองติดตามดูได้จากเว็บไซต์ของ JR

พร้อมแล้วมาออกเดินทางสู่นีงาตะกัน!

 

สึบาเมะซันโจ เมืองแห่งช่างฝีมือโลหะ
เยือนเมืองช่างฝีมือโลหะ ตีแก้วทองแดงด้วยตัวเองที่เมืองสึบาเมะซันโจ นีงาตะ (Tsubamesanjo, Niigata)

ครั้งนี้นั่งชินคันเซ็นจากสถานีอุเอโนะ มาลงที่สถานีสึบาเมะซันโจ (Tsubamesanjo) ตั๋วเที่ยวเดียวราคา 8,700 เยน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที

พอลงจากรถมาปุ๊บก็เจอส้อมกับมีดขนาดมหึมา แน่นอนว่าไม่ได้เอามาตั้งให้ดูแปลกตาเฉยๆ เพราะพวกอุปกรณ์เครื่องครัวของใช้บนโต๊ะอาหารอย่างช้อนส้อมมีดทั้งหลายกว่า 90% ทั่วญี่ปุ่นถูกผลิตขึ้นที่สึบาเมะซันโจแห่งนี้

นีงาตะ

ออกจากช่องตรวจตั๋วจะเจอเสาประตูโทริอิสีแดงในสถานี อันนี้เป็นทางไปชานชาลาของรถไฟสายยาฮิโกะ (Yahiko Line) ซึ่งเราจะใช้นั่งไปศาลเจ้ายาฮิโกะหลังจากนี้ด้วย

สึบาเมะซันโจเป็นชื่อเรียกรวมๆ ระหว่าง 2 เมืองคือเมืองสึบาเมะและเมืองซันโจ ทั้งสองเมืองต่างก็เด่นด้านอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะทั้งคู่ เมืองสึบาเมะจะเด่นด้านผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของใช้บนโต๊ะอาหาร เมืองซันโจจะเด่นด้านอุปกรณ์เครื่องครัว มีด และเครื่องมือช่าง

นึกไปนึกมา ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เค้าก็ใช้ตะเกียบกันนี่นา แล้วทำไมอุตสาหกรรมเครื่องครัวแบบตะวันตกถึงขยายใหญ่ได้ขนาดนี้ เดี๋ยวค่อยๆ ไปดูประวัติความเป็นมาของเมืองระหว่างเที่ยวกัน

ดูผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของสึบาเมะซันโจที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม

นีงาตะ

ก่อนอื่นมาดูกันดีกว่าว่านอกจากช้อนส้อมที่บอกไป ในเมืองสึบาเมะซันโจยังมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออะไรอีกบ้าง โดยมากันที่ร้านของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมสึบาเมะซันโจ (TSUBAMESANJO Regional Industries Promotion Center) เดินจากสถานีรถไฟตรงมาแค่ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น

เยือนเมืองช่างฝีมือโลหะ ตีแก้วทองแดงด้วยตัวเองที่เมืองสึบาเมะซันโจ นีงาตะ (Tsubamesanjo, Niigata)
นีงาตะ

ถ้าเทียบกับที่ไทยก็แนวๆ ศูนย์ OTOP รวมสินค้าที่ผลิตขึ้นในเมืองสึบาเมะและเมืองซันโจให้เลือกซื้อกัน

นีงาตะ

เครื่องครัวเช่น ที่ขูดหัวไช้เท้า หม้อหุงข้าวทองแดงแบบญี่ปุ่น หม้อสเตนเลส มีด กาน้ำ ของใช้บนโต๊ะอาหารพวกช้อน ส้อม มีด

แล้วยังมีเครื่องมือช่าง เช่น เลื่อย กรรไกรทำสวน เคียว จอบ ตะไบ คีม กบไสไม้ ฯลฯ เคยได้ยินว่ามีคนจะทำกบไสไม้ไปใช้ฝานปลาแห้งคัตสึโอะบุชิ ก็ยังต้องมาขอศึกษาวิธีลับมีดจากช่างที่เมืองซันโจเลย

นีงาตะ

แก้วทัมเบลอร์มีให้เลือกหลายแบบมาก แก้วโลหะแบบนี้จะส่งผ่านความเย็นได้ดี เวลาปากโดนขอบแก้วจะรู้สึกเย็นชื่นใจ วัสดุก็หลากหลายทั้งทองแดง ไทเทเนียม สเตนเลส แค่วางไว้บนโต๊ะก็ดูเก๋แล้ว

นีงาตะ

ที่วางตะเกียบทำเป็นรูปตะปูญี่ปุ่น ทำไมต้องเป็นตะปูญี่ปุ่นเดี๋ยวอ่านไปเรื่อยๆ จะมีคำตอบ

นีงาตะ

ให้เข้ากับเทรนด์รักษ์โลก เลยซื้อหลอดไทเทเนียมสีสวย ใช้ซ้ำได้ ไม่เป็นสนิม กับตะขอสารพัดประโยชน์ทำจากอลูมิเนียม เอาไว้ใช้ดึงเปิดประตู กดปุ่มตู้เอทีเอ็ม กดลิฟต์ ฯลฯ ช่วยลดการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ลดโอกาสในการติดเชื้อ

นีงาตะ

ถ้ายังเลือกไม่ถูก ไม่รู้จะซื้ออะไรดีก็ไม่เป็นไร เพราะจริงๆ แล้วที่สถานีสึบาเมะซันโจที่เราลงรถไฟเมื่อกี๊ก็มีร้านอีกหนึ่งสาขาในชื่อ TSUBAMESANJO Wing ให้แวะช้อปก่อนขึ้นรถไฟกลับ

นีงาตะ

สินค้าส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่ก็อาจมีบางอย่างที่มีขายเฉพาะแต่ละสาขา จะลองแวะทั้งสองสาขาเลยก็ได้

ที่สาขา TSUBAMESANJO Wing ตรงสถานีสึบาเมะซันโจยังมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งสำหรับรอรถไฟ ปลั๊กไฟสำหรับชาร์จโทรศัพท์หรือใช้โน๊ตบุ๊ก แล้วก็ไวไฟฟรีด้วย

อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata

↑ กลับไปที่สารบัญ

เรียนรู้ประวัติสึบาเมะซันโจ ลองตีแก้วทองแดงเป็นของที่ระลึกที่ พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมเมืองสึบาเมะ (Tsubame Industrial Materials Museum)

【確認用】ものづくりやアートを体験!新潟の4都市がもつ文化巡り旅

หลังจากเห็นแล้วว่าผลิตภัณฑ์ของสึบาเมะซันโจหลากหลายขนาดไหน คราวนี้ไปดูประวัติความเป็นมาว่าทำไมที่นี่ถึงกลายเป็นเมืองแห่งช่างฝีมือกันที่พิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมเมืองสึบาเมะ (Tsubame Industrial Materials Museum) จากสถานีสึบาเมะซันโจนั่งแท็กซี่ไม่ถึง 10 นาที

ด้านในมีห้องจัดแสดงหลายห้องอยู่ตามอาคารต่างๆ จุดแรกไปกันที่อาคารหลัก ห้องประวัติศาสตร์และเทคโนโลยี (Tsubame’s Metalworking Industry: History and Technologies) เข้ามาปุ๊บก็มีมีวิดีโอเล่าเรื่องราวที่ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปโลหะรุ่งเรืองในสึบาเมะ

ฉากจำลองห้องทำงานของช่างทำคิเซรุ (ไปป์แบบญี่ปุ่น) เครื่องไม้เครื่องมือที่นำมาจัดเป็นของที่ช่างฝีมือทำคิเซรุในอดีตเช่น ฮาเซกาวะ โทโยเฮ และ มิโอกะ โซคิจิ เคยใช้มาจริงๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเมืองสึบาเมะด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีรูปร่างในปี 1977

จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปประมาณ 400 ปีก่อนราวต้นยุคเอโดะ (ปีค.ศ. 1603-1868) เมืองสึบาเมะมักประสบอุทกภัยน้ำท่วมทุกปีทำให้นาข้าวเสียหาย เมื่อไม่มีข้าวก็ไม่มีรายได้ เลยมีการเชิญช่างฝีมือจากเมืองเอโดะมาสอนชาวบ้านให้ผลิตตะปูญี่ปุ่นเป็นงานเลี้ยงชีพแทน จากนั้นก็เริ่มขยายไปทำภาชนะทองแดง ตะไบโลหะสำหรับงานช่าง ไปจนถึงไปป์บุหรี่โลหะ ฯลฯ

เมื่อกี๊ที่เราเห็นที่วางตะเกียบทำเป็นรูปตะปูญี่ปุ่น ก็มาจากประวัติศาสตร์ของเมืองนี่แหละ

มีดและส้อมด้ามงาช้าง ผลิตปี 1934 บนใบมีดแกะสลักลวดลายประณีตสวยงาม ในห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์เครื่องครัวบนโต๊ะอาหารแบบตะวันตกในญี่ปุ่น (Japan's western cutlery exhibition hall)

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องครัวบนโต๊ะอาหารเริ่มขึ้นหลังจากนั้นในยุคไทโช (ปีค.ศ. 1912-1926) ช่วงนี้เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นเยอะ ช้อนส้อมเป็นของที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้นเพราะในญี่ปุ่นยังไม่มีความรู้ในการผลิต กระทั่งมีคนมาขอให้ช่างฝีมือในเมืองสึบาเมะผลิตช้อนส้อมให้หน่อย หลังจากลองผิดลองถูกก็ได้ออกมาเป็นช้อนส้อมหน้าตาเหมือนของตะวันตก

แบบจำลองสภาพหน้าสถานีสึบาเมะในอดีตที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาทำงานในโรงงานแปรรูปโลหะ

พอความต้องการสูงขึ้นก็เริ่มเปลี่ยนจากตีด้วยมือที่ละคันมาใช้เครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังผลิต และที่สำคัญคือในตอนนั้นทุกคนมองว่าชิ้นงานที่ดีมีคุณภาพจะต้องออกมาสวยเนี้ยบเหมือนกันเป๊ะๆ ทุกชิ้น ต่างกับปัจจุบันที่งานทำมือได้รับการยกย่องให้เป็นงานที่มีคุณค่า ก็ถือเป็นค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยแหละ

คุณภาพคือจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าจากญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก อย่างชุดช้อนส้อมมีดนี้คือแบบเดียวกับที่คนมีชื่อเสียงทั้งหลายใช้ในงานเลี้ยงอาหารค่ำของการประกาศรางวัลโนเบล ที่ประเทศสวีเดน

ห้องจัดแสดงช้อนทั่วโลกจากคอลเล็กชันของอิโต โทโยโนริ (Toyonari Ito Collection, World Spoons Hall) รวบรวมช้อนสวยงามและแปลกตาจากหลายประเทศกว่า 5,000 คัน มาดูกันได้ว่ามีของประเทศตัวเองกันรึเปล่า

ช้อน สูง 204 เซนติเมตร หนัก 20 กิโลกรัม ส้อม สูง 215 เซนติเมตร หนัก 16 กิโลกรัม

หน้าทางเข้าห้องจัดแสดงมีช้อนส้อมสเตนเลสที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการบันทึกสถิติโลกจากกินเนสส์เรียบร้อย อย่าลืมมาชักภาพคู่เป็นที่ระลึก

กิจกรรมตีลายค้อนบนแก้วทองแดง

ลองมาสัมผัสกับงานโลหะแบบใกล้ชิดกันอีกนิดที่ห้องเวิร์กชอป (Workshop Room)

ที่นี่มีกิจกรรมให้ลองทำหลายอย่าง เช่น ทำสีช้อนไทเทเนียม ตีแผ่นดีบุกแบนๆ ให้เป็นจอกน้ำ ตีลายบนแก้วแบบต่างๆ

ที่เราเลือกทำวันนี้คือตีลายค้อนบนแก้วทองแดง ค่ากิจกรรม 2,200 เยน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที แก้วที่ตีเสร็จก็เอากลับไปใช้ที่บ้านได้

เมื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่แล้วก็จะได้แก้วทองแดงใบใหม่เนียนกริบ คราวนี้ก็ไปนั่งประจำแท่นได้เลย สำหรับคนที่ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่น จะมีแผ่นคำอธิบายภาษาอังกฤษให้อ่าน แต่ขั้นตอนก็ไม่ยาก

เวลาตีจะเริ่มจากจุดที่ใกล้ก้นแก้วที่สุด ตีเสร็จก็หมุนแก้วนิดนึงแล้วตีจุดที่อยู่ติดกันวนไปจนครบหนึ่งรอบ จากนั้นก็เขยิบขึ้นไปทีละชั้น

เจ้าหน้าที่แนะนำว่าเวลาตีพยายามให้หัวค้อนตีขนานลงกับผิวแก้วด้านบนตรงๆ อย่าตีให้แฉลบเพราะผิวทองแดงจะโดนเฉือนออกไปด้วย และแรงตีจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลายบนแก้ว ตีหนักก็ได้ลายใหญ่ ตีเบาก็ได้ลายเล็ก

เสร็จแล้ว! จะเลือกตีให้ทั่วทั้งใบแบบนี้ หรือจะตีเป็นแถบแล้วเว้นบางช่วงให้เรียบเหมือนเดิมก็ได้แล้วแต่ชอบเลย ขอบอกว่าตีแค่นี้ใช้กำลังเยอะกว่าที่คิดมาก เล่นเอาเมื่อยมือเหมือนกันนะเนี่ย

สีของทองแดงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนี้เปรียบเทียบให้ดูว่าถ้าผ่านไปประมาณ 1 ปีจะหน้าตาเป็นแบบแก้วใบขวา สวยคลาสสิกสุดๆ เจ้าหน้าที่แนะนำว่าแก้วนี้เหมาะกับเบียร์มากเพราะรอยค้อนด้านในแก้วจะช่วยเพิ่มพื้นผิวให้ฟองเบียร์จับ เกิดเป็นฟองเบียร์เนียนละเอียด

ปกติที่ห้องเวิร์กชอปจะมีช่างฝีมือมาช่วยแนะนำและสอนกิจกรรมด้วย ที่เห็นนี้คือการเอาแผ่นดีบุกแบนๆ มาตีด้วยค้อนบนท่อนซุงที่เจาะเป็นหลุม ค่อยๆ ตีจนได้ออกมาเป็นจอกน้ำทรงครึ่งวงกลม กิจกรรมนี้ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ค่ากิจกรรม 2,500 เยน

ถ้าเอาเร็วกว่านั้นก็กิจกรรมทำสีช้อนไทเทเนียม ใช้เวลาประมาณ 5 นาที แต่ไหนๆ มาแล้วก็ขอแนะนำให้เผื่อเวลาเยอะๆ แล้วมาลองทำด้วยตัวเองจะสนุกกว่า

อ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Enjoy Niigata

↑ กลับไปที่สารบัญ

ชมโรงงานเครื่องทองแดงตีมือประวัติ 200 ปี เกียคุเซ็นโด

หลังจากรู้ทั้งประวัติความเป็นมาและได้ลองทำแก้วของตัวเองแล้ว คราวนี้ลองไปดูโปรเค้าทำงานกันบ้าง ในสึบาเมะซันโจมีโรงงานแปรรูปโลหะเล็กใหญ่ร่วม 2,000 แห่ง โรงงานส่วนหนึ่งยังเปิดให้เราเข้าไปชมการทำงานด้านในได้ด้วยโดยจะเรียกกันว่าโอเพ่นแฟกทอรี (Open Factory) ที่เราเลือกแวะมาคือโรงงานเครื่องทองแดงตีมือ เกียคุเซ็นโด

อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าพื้นที่แถวนี้โดนน้ำท่วมบ่อยจึงริเริ่มการทำตะปูญี่ปุ่น แต่ยังมีปัจจัยอีก 4 อย่างที่ทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปโลหะในสึบาเมะซันโจรุ่งเรืองก็คือ
1. ทองแดงที่ขุดได้จากเหมืองของภูเขายาฮิโกะยามะ
2. ฟืนเชื้อเพลิงสำหรับเตาเผาจากเขตชิทาดะโกที่อยู่ติดกัน
3. แม่น้ำสำหรับขนส่งกระจายสินค้าไปขาย
4. เทคนิคเครื่องทองแดงของช่างฝีมือจากไอซุ (จังหวัดฟุกุชิมะ) และเซ็นได (จังหวัดมิยากิ)

เกียคุเซ็นโด (Gyokusendo) ก่อตั้งขึ้นในปี 1816 โดย ทามากาวะ คาคุเบ (Tamagawa Kakubei) ผู้สืบทอดเทคนิคการตีมือขึ้นรูปเครื่องทองแดงจากช่างฝีมือของเซ็นได ในช่วงแรกเกียคุเซ็นโดเน้นผลิตของใช้สำหรับชีวิตประจำวัน เช่น หม้อและกาน้ำ จากนั้นก็เริ่มออกแบบลวดลายประดับเพิ่มความสวยงาม ผสมผสานเทคนิคที่หลากหลายจนชิ้นงานที่เสร็จออกมาดูสวยประหนึ่งงานศิลปะ

ในปี 2019 มีคนแวะเวียนมาชมโรงงานเกียคุเซ็นโดกว่า 6,000 คน เปิดให้เข้าชมพร้อมเจ้าหน้าที่แนะนำส่วนต่างๆ วันละ 5 รอบ ได้แก่ 10:00, 11:00, 13:00, 14:00 และ 15:10 น. รอบละประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ามาเป็นกลุ่มเกิน 5 คนขอให้ติดต่อล่วงหน้านิดนึง วันหยุดดูได้จากเว็บไซต์ทางการ

มาถึงก็กดกริ่งเพื่อรอเจ้าหน้าที่มารับ ช่วงสั้นๆ ระหว่างรอก็ได้เห็นว่าไม่ใช่แค่หน้าตาด้านนนอกเท่านั้น แต่ด้านในก็ดูเก่าแก่แบบบ้านสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ อาคารไม้แบบญี่ปุ่นของเกียคุเซ็นโดหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติด้านวัฒนธรรมที่มีรูปร่างด้วย

หลังจากเจ้าหน้าที่พาเดินเข้าไปได้แป๊บเดียวก็มีเสียงก๊องแก๊งก๊องแก๊งดังเป็นจังหวะแว่วมาจากด้านใน

พอเปิดประตูกระจกเข้ามาก็ได้เจอต้นตอของเสียง นั่นคือเหล่าช่างกำลังนั่งตีเครื่องทองแดงกันอย่างขมักเขม้น วันที่มานี้ช่างจะน้อยกว่าปกติเพื่อไม่ให้แออัดเกินไป แต่ช่างประมาณ 6-7 คนยังเสียงดังขนาดนี้ ถ้าเป็นช่วงปกติที่ช่างประจำการกันจนเต็มเสียงคงอลังการกว่านี้แน่ๆ

กาต้มน้ำที่ตีขึ้นรูปจากทองแดงแผ่นเดียว

ตัวอย่างของงานเครื่องทองแดงตีมือที่เรียกว่าซุยคิโดคิของเกียคุเซ็นโดคือกาน้ำแบบในรูปนี้ ถ้าเป็นวิธีผลิตแบบทั่วไปก็จะทำตัวกากลมๆ ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาส่วนปากของกามาเชื่อมประกบเข้าด้วยกัน

แต่กาน้ำของเกียคุเซ็นโดตีทั้งตัวหม้อกาและปากกาขึ้นมาจากทองแดงแผ่นเดียวเลย ฟังแล้วอาจคิดว่าไม่น่าจะยาก แต่ลองคิดถึงเวลาต้องตีส่วนปากกาที่เป็นจะงอยเล็กๆ นั่นสิ แล้วยังต้องตีให้ความหนาของแผ่นทองแดงเท่ากันอีก กว่าจะทำได้ขนาดนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นสิบปีเลยทีเดียว

คุณสมบัติของทองแดงอย่างหนึ่งคือพอโดนตีแล้วเนื้อทองแดงจะแข็งขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังฝืนตีต่อไปเรื่อยๆ ก็จะแตก เพราะฉะนั้นหลังจากตีไปได้สักพัก ช่างจะต้องเอาทองแดงไปเผาไฟเพื่อให้ทองแดงนิ่ม ถึงจะเอามาตีต่อได้ อย่างกาน้ำนี้อาจต้องเอามาเผาแล้วตี ตีแล้วเผาซ้ำถึง 15 ครั้งกว่าจะเสร็จ

พอมองไปที่เก้าอี้ของช่างถึงเห็นว่าจริงๆ แล้วคือท่อนไม้ทั้งท่อน แถมยังเจาะรูไว้เต็ม เจ้าหน้าที่บอกว่านี่เป็นไม้เคยากิ ไม้เนื้อแข็งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้กันมากไม่ว่าจะสร้างบ้านหรือทำเครื่องเรือน แล้วแท่งเหล็กที่เสียบอยู่นั่นล่ะ

แท่งเหล็กนี้เรียกว่า โทริกุจิ แปลตรงตัวได้ว่าปากนก ดูจากหน้าตาก็น่าจะเดาที่มาของชื่อได้ ในโรงงานมีแท่งเหล็กโทริกุจิรูปทรงต่างกันนับ 200 เล่ม บางเล่มก็กลมมน บางเล่มก็เรียวยาว ช่างจะเลือกโทริกุจิที่เหมาะกับชิ้นงานมาใช้ บางครั้งถ้าหาเล่มที่เหมาะไม่ได้ ช่างก็จะตะไบปรับแต่งเองจนถูกใจ

รูที่เห็นบนท่อนไม้ก็มีไว้เสียบโทริกุจินี่แหละ เวลาทำงานก็เอาหัวของโทริกุจิสอดเข้าไปในชิ้นงานแล้วค่อยๆ ตีไปเรื่อยๆ จากรูปข้างบนจะเห็นว่าปากของถ้วยจะดูบานออกเล็กน้อยตามรอยโค้งของหัวโทริกุจิ

ที่ใช้ท่อนไม้เป็นเก้าอี้กับปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิก็เพื่อช่วยกระจายแรงตี ไม่งั้นถ้าเป็นพื้นแข็งๆ เจอแรงตีซ้ำๆ กันอย่างนี้ทุกวันพื้นพังแน่นอน

พอมองไปอีกทางก็เห็นช่างกำลังตีงานชิ้นใหญ่เบ่อเร่อ ดูเหมือนจะเป็นกระถางต้นไม้

งานถ้วยชิ้นเล็กๆ เรายังพอเห็นว่าหัวของโทริกุจิอยู่ตรงไหน จะได้ตีไม่พลาด แต่พอเป็นงานชิ้นใหญ่จนมองไม่เห็นโทริกุจิอย่างนี้ช่างเค้าจะรู้ได้ยังไงว่าตีโดนรึเปล่า

ช่างจะฟังเอาจากเสียง ถ้าตีโดนส่วนที่มีหัวโทริกุจิรองอยู่เสียงจะหนัก ถ้าตีไม่โดนเสียงจะเบา แต่ถ้าพึ่งแค่เสียง คงได้มีตีพลาดเยอะจนงานพังก่อนแน่ๆ ของอย่างนี้ต้องเรียกว่าประสบการณ์กับฝีมือของช่างเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ

อีกอย่างที่รู้สึกทึ่งมากคือก่อนหน้านี้ที่ได้ไปลองตีลายค้อนบนแก้วมานั่นใช้เวลาตีแค่ประมาณ 10 กว่านาทีเท่านั้นยังเมื่อยจนมือล้า แต่นี่ช่างแทบจะตีต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เป็นงานที่ต้องใช้พลังกายเยอะมาก

ส่วนหนึ่งของชั้นเก็บโทริกุจิ แค่ที่เห็นนี้ก็มีโทริกุจิ 50 กว่าเล่มแล้ว

ด้านในสุดของโรงงานเป็นส่วนเกี่ยวกับการทำสีเครื่องทองแดง เจอช่างรุ่นพี่กำลังชุบสีถ้วยให้ช่างรุ่นน้องดูอยู่พอดี

อย่างหนึ่งที่สังเกตมาตั้งแต่ห้องแรกแล้วก็คือช่างที่นี่หลายคนดูแล้วอายุยังน้อยอยู่เลย เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าดีใจแทนที่ภูมิปัญญาและความรู้เกี่ยวกับเครื่องทองแดงตีมือจะมีผู้สืบทอดต่อไปเรื่อยๆ

หลังชมฝีมือช่างเสร็จแล้ว ถ้าสนใจอยากได้งานทองแดงตีมือไปใช้ที่บ้านก็มาเลือกซื้อตรงส่วนร้านด้านหน้าได้ มีทั้งถ้วย ชาม กาน้ำ และแก้วน้ำให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่

งานทองแดงเหล่านี้ตอนวางอยู่ที่ร้านอาจจะดูหน้าตาเหมือนกันไปหมด แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งนานก็ยิ่งสวย เหมือนเราได้เลี้ยงให้มันเติบโตไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นของที่มีเอกลักษณ์เพียงชิ้นเดียวในโลก

ถ้าสนใจก็มาลองชมฝีมือของช่างและผลงานทองแดงแสนสวยกันได้ที่เกียคุเซ็นโด

↑ กลับไปที่สารบัญ

จุดน่าแวะระหว่างทาง

ต้นตำรับสึบาเมะราเม็ง โคชูฮันเท็น

จากสถานีสึบาเมะที่อยู่ใกล้เกียคุเซ็นโด นั่งรถไฟถัดมาอีก 1 สถานีลงที่สถานีนิชิสึบาเมะ (Nishi-Tsubame) แล้วเดินประมาณ 10 นาที จะมีร้านราเม็งเก่าแก่ โคชูฮันเท็น (Koshuhanten)

ว่ากันว่าร้านนี้คือต้นตำรับของราเม็งสไตล์สึบาเมะ เด่นตรงซุปนิโบชิโชยุรสเข้ม และมันหมูที่ลอยเต็มหน้าชามจนมองไม่เห็นเส้น

ชื่อในเมนูจะเขียนไว้ว่าชูกะโซบะ (中華そば) ก็หมายถึงราเม็งนี่แหละ เส้นราเม็งจะออกแบนๆ หน่อยทำให้เส้นอืดยาก มีความหนึบกำลังดี ถือเป็นร้านดังแห่งหนึ่งของเมืองสึบาเมะที่มาแล้วต้องลองให้ได้

↑ กลับไปที่สารบัญ

เที่ยว 4 เมือง 4 สไตล์ในนีงาตะ

เป็นอันจบเมืองแรก สึบาเมะซันโจ เมืองแห่งช่างฝีมือโลหะที่สืบทอดความรู้และภูมิปัญญากันมากว่า 400 ปี นอกจากจะได้เห็นช่างฝีมือสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังได้ลองตีลายแก้วทองแดงด้วยตัวเองอีกต่างหาก

จากนี้เราจะเดินทางต่อไปยังยาฮิโกะ แวะไหว้ศาลเจ้ายาฮิโกะ ขึ้นเขาไปดูวิวสวยแบบ 360 องศา แล้วไปแช่ออนเซ็นให้สบายตัวในเรียวกับรรยากาศย้อนยุค เลือกตอนต่อไปจากรูปด้านล่างนี้ได้เลย

ท่องไปในทุ่งศิลป์ของเมืองโทคามาจิ Tsumari Art Field จังหวัดนีงาตะ

Written by

อาหารญี่ปุ่นที่ชอบที่สุดคือราเม็งทงคตสึโชยุ เข้มข้นและเค็ม! ส่วนขนมขอยกให้มิตาราชิดังโกะ เห็นที่ไหนต้องแวะซื้อตลอด ว่างๆ ก็ออกไปถ่ายรูปบ้างพอให้มีอะไรที่เรียกว่าเป็นงานอดิเรก
เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนบทความ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดสินค้า บริการ ราคาในภายหลังได้ กรุณาตรวจสอบกับสถานที่นั้นอีกครั้งก่อนการไปใช้บริการ
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง

อันดับ

ไม่พบบทความ