Start planning your trip
ร้านสินค้าสไตล์เรโทร คาเฟ่บรรยากาศย้อนยุค เดินเล่นท่ามกลางย่านร้านค้าที่เปี่ยมด้วยความทรงจำใน โคเอ็นจิลุคโชเท็นไก (Koenji Look Shotengai)
ย่านร้านค้าถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น ไปเดินเล่นซื้อของเก๋ๆ นั่งคาเฟ่บรรยากาศเรโทร หาของอร่อยทานกันที่ ลุค โชเท็นไก ใกล้สถานีโคเอ็นจิ
มีทุกสิ่งให้เลือกสรร ที่ย่านร้านค้าอายุกว่า 70 ปี
เวลาที่อยากซื้อผัก อยากได้รองเท้าใหม่ อยากไปกินข้าวนอกบ้าน ทุกคนเลือกไปที่ไหนกันคะ เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงห้างสรรพสินค้าขึ้นมาแน่นอน แต่ครั้งนี้เราขอแนะนำย่านร้านค้าที่เรียกกันว่าโชเท็นไกค่ะ
เอกะคังโดริโชเท็นไก (Eigakan-dori Shotengai : 映画館通り商店街) ย่านร้านค้าที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1951 ในแถบโคเอ็นจิ (Koenji) ทางฝั่งตะวันตกของโตเกียว มีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้เลือกซื้ออย่างครบครันจนแทบไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ แต่ก่อนที่นี่คึกคักมากจนเรียกได้ว่าเป็นย่านบันเทิงเลยทีเดียว เพราะเคยมีโรงภาพยนตร์อยู่ด้วย เลยเป็นที่มาของชื่อ "เอกะคังโดริ" ถนนโรงภาพยนตร์
เหล่าผู้ประกอบการได้รวมตัวกันตั้งสมาคมย่านร้านค้าขึ้นในปี 1962 กลายเป็นจุดกำเนิดของย่านร้านค้าโคเอ็นจิลุคโชเท็นไก (Koenji Look Shotengai : 高円寺ルック商店街) มาจนถึงปัจจุบัน
พอได้มาเดินดูก็เจอทั้งไปรษณีย์ ร้านขายยา ร้านหมอฟัน ร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ร้านขายของจิปาถะ คาเฟ่ อิซากายะ แกลอรี่ และอีกสารพัด แม้ประเภทของร้านค้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของยุคสมัย แต่ความครบครันและหลากหลายที่เป็นเหมือนดีเอ็นเอของย่านการค้าก็ไม่ได้จางหายไปเลย
ประวัติศาสตร์ที่สัมผัสได้ผ่านอาคารบ้านเรือน
ย่านการค้าโคเอ็นจิลุคโชเท็นไกตั้งอยู่ระหว่างสถานีโคเอ็นจิของ JR และโตเกียวเมโทร มีร้านค้าเกือบ 170 ร้านเรียงรายบนสองข้างทางถนนยาว 600 เมตร
ถึงบางร้านจะเพิ่งมาเปิดใหม่ แต่ตัวอาคารก็ยังคงรูปแบบของนากายะหรืออาคารตึกแถวแบบญี่ปุ่นที่เห็นได้มากในสมัยเอโดะ บางตึกดูเก่าแก่จนบ่งบอกถึงอายุ ตอนเดินผ่านหน้าร้านแคบๆ เรียงยาวตามทางก็ได้ความรู้สึกเหมือนเดินห้างอยู่นะ
ครั้งนี้เราแวะไปเยือนร้านค้าบางส่วนมาค่ะ มีตั้งแต่ร้านที่เพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 10 ปี จนถึงร้านเก่าแก่ที่เปิดมาร่วม 80 ปี
1. กรังปรีซ์ ของจิปาถะย้อนวันวาน
กรังปรีซ์ (Grandprix : グランプリーズ) ร้านจิปาถะและเสื้อผ้ามือสองย้อนยุคสไตล์โชวะเรโทร เปิดในปี 2014 ภายในร้านมีบรรยากาศอบอุ่นและน่ารัก สินค้าหลายประเภทอัดแน่นอยู่เต็มผนัง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ามือสอง ของกระจุกกกระจิกดีไซน์ย้อนยุค ขนมดากาชิ ไปจนถึงสินค้าแฮนด์เมด
เราถามว่าทำไมถึงมาเปิดร้านกรังปรีซ์นี้ โอมุระซัง เจ้าของร้านให้คำตอบว่า "ฉันคิดแค่ว่ายังไงก็ต้องมาเปิดร้านนี้ที่นี่" ราวกับเป็นสิ่งที่พรหมลิขิตกำหนดไว้เรียบร้อย
โอมุระซังเองก็ชอบมาเดินดูเสื้อผ้ามือสองและซื้อของกระจุกกระจิกสไตล์ย้อนยุคแถวโคเอ็นจิตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนอยู่แล้ว
สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาของร้านก็คือกันสาดสีเหลือง ตู้หยอดกาชาปอง และเสื้อผ้าสีสันสดใสหลากสี เวลาไปหาซื้อของเข้าร้าน โอมุระซังจะเลือกของที่ตัวเองเห็นแล้วรู้สึกน่าสนใจ ร้านนี้จึงเหมือนเป็นการแสดงตัวตนของโอมุระซังไปในที
ชุดวันพีซมือสองราคาเริ่มที่ 2,800 เยน เสื้อเชิ้ตผู้ชายราคาเริ่มที่ 1,800 เยน เสื้อผ้าแบบออริจินัลของร้านกรังปรีซ์เองก็มี สนใจอยากลองตัวไหนก็มีห้องลองให้พร้อม
เห็นว่ามีลูกค้าต่างชาติมาซื้อสินค้าลายการ์ตูนอย่างสนูปปี้และอันปังแมนกันด้วย "จากนี้ก็อยากให้มีคนจากหลายๆ ประเทศมาที่นี่อีกค่ะ!" โอมุระซังบอก
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือพวกสินค้าแฮนด์เมดและสินค้าออริจินัลของเหล่าศิลปินส่วนตัว เช่น มาสก์กิ้งเทป ตุ๊กตา เครื่องประดับ และกระเป๋าที่รีเมคจากแผ่นเสียง ไม่ใช่สินค้าที่จะเจอได้ง่ายๆ ตามร้านค้าทั่วไป แต่ละอย่างเป็นสินค้าที่ทำขึ้นใหม่ แต่ก็เต็มไปด้วยดีไซน์แบบเรโทรให้ได้รู้สึกเหมือนย้อนอดีตไปในวันวาน
ตอนที่ดูชั้นสินค้าอยู่ก็เห็นตุ๊กตาจิ๋วรูปช้างสีชมพูที่คุ้นเคย นี่คือซาโตโกะจัง มาสคอตของบริษัทผลิตยา สมัยก่อนไม่ว่าจะไปร้านขายยาที่ไหนก็ต้องมีหุ่นของซาโตโกะจังตั้งอยู่หน้าร้านทุกที่เลยค่ะ
ระหว่างที่เดินออกจากร้านกรังปรีซ์ไปตามถนนในย่านร้านค้า ก็คิดเสียดายอยู่ในใจว่าตอนนี้แทบจะไม่มีร้านขายยาไหนวางหุ่นซาโตโกะจังไว้หน้าร้านแล้ว
หุ่นซาโตโกะจังกับซาโตะจังที่ทางร้านก็จำไม่ได้ว่าเอามาตั้งไว้นานแค่ไหนแล้ว
พูดยังไม่ทันขาดคำ ก็เหลือบไปเห็นซาโตโกะจังยืนคู่กับซาโตะจัง ช้างสีส้มตรงหน้าร้านขายยาพอดี แวะที่นี่กันหน่อยดีกว่าค่ะ
2. ร้านยาฟุจิยะ ร้านยาเก่าแก่อายุร่วม 90 ปี
ร้านยาฟุจิยะ (Fujiya drug store) เป็นร้านขายยาเก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1933 ตัวร้านเป็นอาคารหลังเดี่ยวสไตล์ตะวันตก สร้างขึ้นในยุคไทโช ที่น่าเหลือเชื่อคือตัวบ้านไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวใหญ่คันโตในปี 1923 และสงครามโลกครั้งที่สองที่จบลงเมื่อปี 1945
โคะนิชิซัง เภสัชกรผู้เป็นทั้งเจ้าของร้านเคยทำงานในโรงพยาบาลมาก่อน พอแต่งงานก็เลยออกมาช่วยสานต่อกิจการร้านยาฟุจิยะของบ้านสามี เมื่อได้ถามเหตุผลที่ยังเปิดร้านต่อแม้ปัจจุบันจะอยู่เพียงคนเดียวแล้ว โคะนิชิซังบอกว่า "ตราบใดที่มีคนมองว่าร้านนี้ยังจำเป็นอยู่ ฉันก็อยากจะทำให้มันเป็นร้านที่พวกเค้าสามารถมาได้อย่างสบายใจ"
บางครั้งมีลูกค้าจากต่างประเทศมาซื้อยาด้วยเหมือนกัน โคะนิชิซังจะสอบถามอาการด้วยภาษาอังกฤษง่ายๆ ผสมกับภาษากาย แล้วค่อยเสนอยาที่เหมาะสมให้ ของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันก็มี เช่น พลาสเตอร์ยา ผงซักฟอก และอื่นๆ
ถึงหน้าร้านจะมีเครื่องขายบุหรี่อัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ลูกค้าหลายคนก็เลือกที่จะเรียกแล้วซื้อกับโคะนิชิซังโดยตรง คนที่แวะมาคุยเล่นระหว่างเดินซื้อของก็มี เข้าใจแล้วหละว่าทำไมโคะนิชิซังถึงอยากจะเปิดร้านต่อ
3. นานะสึโมริ คาเฟ่บริการอาหารและบรรยากาศที่สบายใจและปลอดภัย
หัวมุมถนนฝั่งตรงข้ามร้านยาฟุจิยะเป็นอีกหนึ่งร้านที่เราสัมผัสได้ถึงความเก่าแก่ เดิมอาคารหลังนี้เคยเป็นร้านชามาก่อน ด้วยความสนใจในสถาปัตยกรรมของอาคาร เจ้าของร้านเลยขอเช่าเพื่อเปิดเป็นคาเฟ่เมื่อปี 1978 ในชื่อ นานะสึโมริ (Nanatsumori : 七つ森)
เมื่อถามเจ้าของร้านถึงที่มาที่ไปในการเปิดคาเฟ่แห่งนี้ ก็ได้คำตอบว่ามาจากสภาพสังคมในสมัยก่อน
"ในช่วงยุคปี 60-70 เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วยให้เมืองเต็มไปด้วยความคึกคัก แต่นั่นก็เป็นช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องมลพิษอย่างหนักด้วยเหมือนกัน"
ท่ามกลางปัญหาเรื่องภัยสุขภาพ เจ้าของร้านก็คิดอย่างหนักว่ามีอะไรที่ตัวเองพอจะช่วยได้บ้าง จนมาสรุปที่การเปิดคาเฟ่ โดยตั้งเป้าให้ที่นี่เป็นร้านที่ทุกคนสามารถมาทานอาหารที่เลือกใช้วัตถุดิบอันปลอดภัยในทุกเมนูได้อย่างสบายใจ
จนถึงตอนนี้อาหารทุกเมนูก็ยังคงทำด้วยมืออย่างตั้งใจไม่เปลี่ยน แกงกะหรี่ก็ทำตั้งแต่ผสมเครื่องแกงเอง เป็นรสชาติที่มีเอกลักษณ์จนนึกว่าร้านแกงกะหรี่มาทำให้ทานเองเลย เมนูที่คนของสมาคมย่านร้านค้าแนะนำว่าให้ลอง คือ พุดดิ้งคัสตาร์ด (カスタードプリン) ราคารวมภาษี 625 เยน เนื้อพุดดิ้งแน่นๆ ราดด้วยซอสคาราเมล เป็นรสชาติที่ไม่เคยเปลี่ยนนับตั้งแต่เปิดร้านมา
* แกงกะหรี่มี 3 แบบ แกงกะหรี่ผัก (野菜カレー) แกงกะหรี่คีมะคาเร่ (キーマカレー) และแกงกะหรี่กะทิ (ココナッツカレー) ทุกแบบมาพร้อมซุปและสลัด ราคาแต่ละเมนูรวมภาษี 1,185 เยน
การตกแต่งภายในร้านทำให้เหมือนยุคโชวะช่วงปี 1955-1965 เก้าอี้บุนวมสีแดงเข้มและแสงไฟนวลตา สร้างบรรยากาศสบายๆ แสนอบอุ่น
เจ้าของร้านบอกว่าช่วงที่เพิ่งเริ่มทำร้าน ยุคนั้นการที่ผู้หญิงจะเข้าไปนั่งในร้านอาหารหรือคาเฟ่เองคนเดียวยังไม่ค่อยมี เลยตั้งใจออกแบบร้านให้มีบรรยากาศกันเอง ไม่ว่าใครก็เข้ามาใช้บริการได้ง่าย
"สมัยนั้นการโปรโมตร้านไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มี เลยทดลองหลายๆ วิธีเพื่อให้ร้านเป็นที่จดจำของลูกค้า"
หนึ่งในวิธีที่ทางร้านยังคงทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็คือการตั้งราคาเมนูต่างๆ ให้เป็นเศษ 5 เยน เวลาทอนเงินจะใช้เหรียญห้าเยนที่มีริบบิ้นผูกอยู่ เป็นการเล่นคำพ้องเสียง โดย "ห้าเยน" อ่านออกเสียงภาษาญี่ปุ่นว่า "โกะเอ็น" แปลว่า มีสายสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อสื่อว่าให้ร้านกับลูกค้าได้มีสายสัมพันธ์ต่อกัน วันหลังก็จะได้มาพบเจอกันที่ร้านอีก
4. เท็นโอ ร้านอาหารจีนที่เล่าเรื่องด้วยรสชาติ
ท่ามกลางกระแสความนิยมของร้านอาหารจีนราคาย่อมเยาที่เรียกกันว่ามาจิชูกะในสมัยโชวะ ร้านเท็นโอ (Ten-oh : 天王) ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เปิดตัวขึ้นในปี 1984 ก่อนจะเปลี่ยนมือมายังเจ้าของคนปัจจุบันในปี 1999
สำหรับคนที่เดินผ่านไปมา พอเห็นหน้าร้านอย่างนี้แล้วอาจจะต้องใช้ความกล้าสักหน่อยที่จะเปิดประตูเข้าไป แต่ถ้าได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติอาหารจากฝีมือเจ้าของร้านผู้เงียบขรึมอย่างโอมาตะซังดูสักครั้ง รับรองจะต้องกลายเป็นลูกค้าประจำแน่นอน
เข้าไปในร้านจะเจอที่นั่งเคาน์เตอร์เรียงเป็นแถว มีโต๊ะใหญ่อยู่ด้านในสุด 2 ตัว ได้ที่นั่งแล้วก็เลือกสั่งของที่อยากลองได้จากเมนูบนโต๊ะเลย (เมนูมีเฉพาะภาษาญี่ปุ่น)
โชกะโชยุราเม็ง ราคารวมภาษี 659 เยน
โอมาตะซังเรียนจบจากวิทยาลัยวิชาชีพด้านประกอบอาหารชื่อดัง จากนั้นก็ไปทำงานที่ภัตตาคารอาหารจีน ก่อนจะถูกชักชวนจากเจ้าของร้านเท็นโอคนก่อนให้มาทำงานที่นี่ เมนูที่โอมาตะซังผู้วิจัยรสชาติอาหารมาตลอดรังสรรค์ขึ้นก็คือ โชกะโชยุราเม็ง (生姜醤油ラーメン) ราเม็งรสโชยุผสมขิง
เส้นบะหมี่เหนียวนุ่มกับซุปใสรสชาติเข้มข้นถึงใจแต่ไม่เลี่ยน เราคิดไปเองว่าต้องมีวิธีทำที่ยุ่งยากซับซ้อนแน่เลย แต่โอมาตะซังกลับบอกว่า "แค่ยึดตามวิธีทำแบบพื้นฐานให้มากที่สุดเท่านั้นเอง" อย่างซุปก็ใช้วัตถุดิบแค่ 3 อย่าง คือ ขิง โชยุ และหมู
ข้าวผัด ขนาดเล็ก ราคารวมภาษี 280 เยน (ข้าวผัดขนาดธรรมดา ราคารวมภาษี 600 เยน)
ข้าวผัดชาฮัง (チャーハン) เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยม เคยมีลูกค้าชมว่าอร่อยที่สุดในโลกมาแล้ว แต่โอมาตะซังก็ยังบอกว่า "ข้าวผัดนี่ทำยาก ตอนนี้กำลังฝึกอยู่" รับรู้ได้ถึงความพิถีพิถันเรื่องรสชาติแบบไม่มีหยุดจริงๆ
โอมาตะซังยังบอกอีกว่าจังหวะใส่เครื่องลงกระทะและสภาพร่างกายในวันนั้นๆ ล้วนมีผลต่อรสชาติข้าวผัดทั้งสิ้น การทำอาหารก็ไม่ต่างจากการแข่งสมรรถภาพร่างกาย เห็นว่าฝึกกล้ามท้องทุกวัน วันละ 100 ครั้งเลยทีเดียว!
ทำอาหารง่ายๆ ให้อร่อยอย่างที่ควรเป็น กลายเป็นรสชาติที่ทานกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ร้านเท็นโอถึงได้มีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาด
ย่านการค้าที่เต็มไปด้วยความหลังของผู้คน
"ร้านส่วนใหญ่ในลุคโชเท็นไกเป็นธุรกิจส่วนตัว ร้านเก่าแก่เปิดมาเกิน 50 ปีก็เยอะ การได้เปิดร้านของตัวเองคือฝันที่เป็นจริงของใครหลายๆ คนที่นี่ แต่ละคนก็สร้างร้านขึ้นมาด้วยความรักและใส่ใจกันทั้งนั้น ประเภทร้านก็หลากหลายจนถ้ามาถามว่าอะไรคือจุดเด่น ก็ไม่รู้เลยว่าจะเลือกตอบอันไหนดี"
พอได้มาเดินเองก็เห็นจะเป็นจริงอย่างที่เจ้าหน้าที่สมาคมย่านร้านค้าพูดให้ฟัง เพราะเรายังเจอร้านน่าสนใจอีกหลายร้าน เช่น แกลลอรี่ศิลปะในธีมวิทยาศาสตร์และศิลปะ Uptown Koenji Gallery ร้านคาเฟ่ Cafe & Bar Blue MOON และร้านขนมคุกกี้ไอซิ่งหน้าตาน่ารัก
แต่ละร้านมีให้บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนด้วย ถึงจะเป็นย่านร้านค้าเก่าแก่ แต่ก็มีการเปิดรับสิ่งใหม่ไปพร้อมกับอนุรักษ์สิ่งดั้งเดิม นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์ก็ได้
โคเอ็นจิ ลุค โชเท็นไก นอกจากสิ่งของแล้วยังมีความฝันและความทรงจำของผู้คนอัดแน่นตลอดทางสมกับเป็นย่านร้านค้าที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรรจริงๆ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
In cooperation with Shinkoenji Shopping Street Promotion Association, Grandprix, Fujiya drug store, Nanatsumori, Ten-oh
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง