Start planning your trip
สัมผัสวิถีชีวิตผู้คนที่สืบทอดมากว่า 400 ปีที่นิชิอาวะ จังหวัดโทคุชิมะ (Nishiawa, Tokushima)
นิชิอาวะ ทางตะวันตกของจังหวัดโทคุชิมะ เมืองที่ยังดำเนินชีวิตไม่ต่างจากเมื่อ 400 ปีก่อน ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ทำเกษตรกรรมที่จำเป็นกับชีวิตบนพื้นที่ลาดชันถึง 40 องศา บทความนี้จะพาไปชมเสน่ห์ของนิชิอาวะกันค่ะ
โทคุชิมะ จังหวัดแห่งประเพณีและธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
Picture courtesy of JTB Communication Design Co., Ltd.
จังหวัดโทคุชิมะ (Tokushima) อยู่ในภูมิภาคชิโกะคุ ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เต็มไปด้วยประเพณี เทศกาลเก่าแก่ และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อาวะโอโดริ เทศกาลฤดูร้อนที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1586 กระแสน้ำวนนารุโตะ หนึ่งในสามกระแสน้ำวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และภูเขาต่างๆ เช่น ภูเขาสึรุกิซังและภูเขาบิซัง เดิมที่แห่งนี้ถูกเรียกว่าอาวะมาตั้งแต่ก่อนยุคเมจิ ถึงจะเปลี่ยนเป็นชื่อจังหวัดโทคุชิมะแล้ว แต่ก็ยังปรากฎชื่ออาวะอยู่ในหลายๆ แห่ง
ครั้งนี้เราจะไปค้นหาเสน่ห์ของนิชิอาวะ (Nishi-Awa) พื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดโทคุชิมะที่ได้รับเลือกเป็นมรดกโลกทางเกษตรกรรม (*1)
*1 : มรดกโลกทางเกษตรกรรม ... พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมงที่มีความสำคัญระดับโลกหรือมีคุณค่าในด้านขนบประเพณีดั้งเดิม รับรองโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปัจจุบันมีทั้งหมด 52 พื้นที่ใน 21 ประเทศทั่วโลก
นิชิอาวะ สืบสานวิถีชีวิต 400 กว่าปีก่อน
นิชิอาวะเป็นชื่อเรียกรวมของเขตมิมะ (Mima) เขตมิโยชิ (Miyoshi) เมืองสึรุกิ (Tsurugi) และเมืองฮิกาชิมิโยชิ (Higashimiyoshi) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระหว่างภูเขาทางตะวันตกของจังหวัดโทคุชิมะ กว่า 400 ปีแล้วที่วิถีชีวิต การทำเกษตรกรรม และวัฒนธรรมอาหารการกินของชุมชนที่นี่แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย สามารถเรียกได้ว่าเป็นทิวทัศน์ดั้งเดิมของญี่ปุ่นซึ่งหาดูไม่ได้ในโตเกียวและโอซาก้า
Picture courtesy of JTB Communication Design co.,Ltd.
นอกจากการใช้ชีวิตบนเขาแล้ว การใช้ชีวิตในเมืองก็เป็นความพิเศษของนิชิอาวะเช่นกัน ที่ถนนอุดาสึ (Udatsu Townscape) ของเมืองวากิมาจิ (Wakimachi) ในเขตมิมะ เป็นเมืองของพ่อค้าในยุคเอโดะ ปัจจุบันก็ยังหลงเหลืออาคารบ้านเรือนของสมัยนั้นราวกับเวลาได้หยุดเดินไป
ผู้คนในนิชิอาวะอาศัยอยู่กันยังไงนะ สำหรับคนที่อยากสัมผัสกับธรรมชาติและคนที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตในอดีตจากสถานที่จริง เราจะพาไปชมเสน่ห์ของนิชิอาวะกันค่ะ
การเกษตรและวิถีชีวิตบนเนินเขาชัน 40 องศา
Picture courtesy of JTB Communication Design co.,Ltd.
เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นภูเขา เพราะงั้นก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้รวมกลุ่มกันจนเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ บนฝั่งหนึ่งของเนินเขา
วิถีชีวิตส่วนใหญ่ก็คือการทำเกษตร การทำเกษตรบนเขาปกติจะปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได แต่ของที่นี่พัฒนาระบบเกษตรกรรมบนพื้นที่ลาดชัน สำหรับปลูกพืชพันธุ์บนพื้นที่เอียงอย่างนั้นเลย
พื้นที่เกษตรลาดชันของหมู่บ้านคิริอุในเมืองสึรุกิ
เห็นว่าส่วนที่ชันที่สุดชันถึง 40 องศา คนที่ไม่ชินพื้นที่พอขึ้นมาแล้วก็แทบจะล้มกลิ้งไปตามๆ กัน สำหรับชาวบ้านที่ต้องทำไร่บนพื้นที่ชันแบบนี้พร้อมอุปกรณ์ในมือต้องอาศัยความสมดุลของร่างกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นอย่างมากเลยค่ะ
เพื่อไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างออกไปด้วยฝนและลม จึงต้องมีการประยุกต์หลายๆ อย่าง เช่น การใช้พืชบนเขาที่ไม่ค่อยดูดน้ำอย่างหญ้าซุซุกิผสมกับดินเพื่อกันดินไหล แถมยังทำหน้าที่เป็นปุ๋ยไปด้วยในตัว
หลักในการเพาะเลี้ยงผลผลิตของที่นี่คือ ปริมาณน้อยแต่หลายชนิด ไม่เน้นพืชชนิดเดียวในปริมาณเยอะๆ แต่จะปลูกหลายๆ ชนิดตามฤดูกาล เช่น มันฝรั่ง โซบะ ผักป่า และธัญพืช เป็นเกษตรกรรมแบบผสมผสาน
ผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรนอกจากจะนำมาทำเป็นอาหารทานกันเองแล้ว ยังมีการแบ่งปันให้คนในหมู่บ้าน หรือนำไปขายตามสถานีรถไฟ
อาหารท้องถิ่นที่หยั่งรากลึกในชุมชน
ในสถานที่ที่วัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะหยั่งรากลึกลงไป อาหารท้องถิ่นก็มักมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบหาที่อื่นไม่ได้เช่นกันค่ะ โซบะโกเมะโซซุย เป็นโซซุย (ข้าวต้มทรงเครื่อง) ที่ต้มผลโซบะแบบทั้งที่ยังเป็นเมล็ด (วัตถุดิบสำหรับทำเส้นโซบะ) พร้อมกับผักและเห็ด เป็นอาหารท้องถิ่นที่ชาวบ้านทำทานกันเป็นประจำทุกวัน
เครื่อง (ผักและวัตถุดิบอื่นๆ) ที่ใส่ในโซซุยและการปรุงรสของแต่ละครอบครัวจะต่างกันเล็กน้อย จึงเป็นอาหารที่มี "รสชาติประจำครอบครัว" แฝงอยู่ รสอ่อนๆ ทานง่าย เด่นตรงรสสัมผัสของเมล็ดโซบะ เต็มไปด้วยของที่ดีต่อสุขภาพ ทานแล้วรู้สึกเหมือนได้ดีทอกซ์ร่างกายเลยล่ะค่ะ
อาหารที่ทำจากผักป่าและเส้นโซบะที่นวดด้วยมือของร้านสึสึคิโชเท็น ในฮิกาชิอิยะ เขตมิโยชิ
นอกจากโซซุยแล้ว เมล็ดโซบะก็ยังนำมาทำเส้นโซบะด้วย การเพาะปลูกข้าวบนพื้นที่ลาดชันในนิชิอาวะทำได้ยาก ครอบครัวชาวนาส่วนใหญ่จึงปลูกโซบะที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศมากกว่า โดยเฉพาะในแถบอิยะ เขตมิโยชิที่มีสภาพอากาศเหมาะแก่การปลูกโซบะอร่อยๆ มากที่สุดเลยค่ะ
หากเทียบกับโซบะที่ทานในเมืองใหญ่ เส้นของที่นี่จะมีขนาดใหญ่กว่าและปริมาณเยอะมาก! ปรุงรสไม่จัด ทานง่ายคล่องคอและอิ่มท้อง
ทำอุปกรณ์เกษตรที่เหมาะกับพื้นที่ลาดชัน
การพึ่งพาตัวเองนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของวัตถุดิบอาหารเท่านั้น ในนิชิอาวะใช้เครื่องมือเกษตรที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อใช้ในพื้นที่ลาดชันด้วย
สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีช่างตีเหล็กที่ผลิตเครื่องมือเกษตร แต่ในปัจจุบันเหลือแค่เพียงคุณโอโมริที่อาศัยอยู่ในสึรุกิโจเท่านั้น ผู้คนที่ทำเกษตรบนพื้นที่ลาดชันต้องมาที่ร้านคุณโอโมริเพื่อซื้อหาและซ่อมแซมอุปกรณ์การเกษตรของตัวเองค่ะ
สัมผัสวิถีชีวิตหมู่บ้านด้วยการพักกับชาวบ้าน
ถ้าอยากรู้ซึ้งถึงความดีงามของนิชิอาวะ ก็ต้องลองไปสัมผัสจริงค่ะ ไม่ใช่แค่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว แต่แนะนำให้เดินทางไปดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั่นโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเลยค่ะ
ในฮิกาชิอิยะ เขตมิโยชิ สามารถเข้าไปพักค้างคืนได้ที่ โคยะ (Kouya) บ้านโบราณหลังใหญ่ที่เปิดเป็นที่พักแรมแบบโฮมสเตย์โดยคู่สามีภรรยาเจ้าของบ้าน คุณนากายามะ ที่รอให้ทุกคนได้มาสัมผัสวิถีชาวบ้านพร้อมๆ กันค่ะ
Picture courtesy of JTB Communication Design co.,Ltd.
บ้านเก่าอายุกว่า 100 ปีแต่ยังคงแข็งแรงและมีพื้นที่กว้างขวางมาก เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความเป็นญี่ปุ่นเต็มที่ เช่น เตาอิโรริ ระเบียงเอ็นกาวะ และบานประตูโชจิ เป็นต้น ห้องน้ำและห้องอาบน้ำได้รับการปรับปรุงใหม่แล้ว ใช้สะดวกมากค่ะ
สามารถทดลองทำอาหารท้องถิ่น, นวดแป้งโซบะ, ทำเกษตร, ตัดฟืนและกิจกรรมอื่นๆ ได้ ที่จริงทุกอย่างก็เป็นงานที่คุณนากายามะทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แม้จะพูดได้แค่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นแต่คุณนากายามะก็พยายามใช้กิจกรรมทั้งหลายเป็นตัวกลางในการสื่อสาร
อยากจะแนะนำให้พักสัก 2 คืนขึ้นไป และใช้เวลาในบ้านเก่าที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอย่างสบายๆ ให้เต็มที่ ในส่วนของค่าใช้จ่าย คืนละ 13,000 เยนโดยประมาณค่ะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของที่พัก
สำหรับคนที่อยากทดลองทำการเกษตรขนานแท้ดู แนะนำให้ไปพักกับครอบครัวชาวนา คุณนาคาจิมะที่อยู่ในเขตมิมะค่ะ เราจะได้ทำเกษตรบนพื้นที่ลาดชันร่วมกันกับคุณนากาจิมะด้วยค่ะ
ชมอาคารบ้านเรือนโบราณและทดลองทำผ้ามัดย้อม
แม้นิชิอาวะจะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยธรรมชาติมากมาย แต่ก็มีย่านที่มีอาคารบ้านเรือนในอดีตอยู่เช่นกัน
ถนนอุดาสึ ในเขตมิมะ เป็นย่านที่ยังหลงเหลือสิ่งก่อสร้างแบบโบราณตั้งแต่ช่วงตอนกลางของยุคเอโดะจนถึงยุคโชวะ ว่ากันว่าในสมัยนั้นที่นี่เคยเป็นเมืองแห่งการค้าที่คึกคักและเป็นแหล่งผลิตครามสำหรับทำผ้าย้อมอาวะไอด้วยค่ะ
Picture courtesy of JTB Communication Design co.,Ltd.
สิ่งก่อสร้างในแถบนี้มีเอกลักษณ์คือส่วนที่คล้ายกำแพงยื่นออกมาตรงชั้น 2 ของบ้าน ตรงที่วงกลมสีแดงกำกับอยู่
ส่วนนี้เรียกว่า อุดาสึ มีหน้าที่ป้องกันประกายไฟจากอาคารข้างๆ และในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นหลักฐานพิสูจน์ความมั่งคั่งของครอบครัวนั้น ถ้าบ้านไหนมีอุดาสึที่สง่างาม นั่นก็แสดงว่าเป็นบ้านของคนมีเงินนั่นเองค่ะ
วัฒนธรรมอุดาสึของที่นี่แพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น จนมีคำกล่าวว่า "อุดาสึกะ อาการาไน่" หมายถึงค้าขายได้ไม่ดี หรืออาชีพการงานไม่ก้าวหน้าค่ะ
ทดลองทำไอโซเมะ ผ้ามัดย้อม
สีครามที่ได้จากพืชเป็นสีดั้งเดิมที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยเป็นอย่างดีตั้งแต่อดีต สีครามในจังหวัดโทคุชิมะถูกเรียกว่า "อาวะไอ" ซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของละแวกนี้ในยุคเอโดะ
ถ้าอยากรู้ว่าทำยังไงถึงย้อมผ้าได้สีครามสวยอย่างนี้ล่ะก็ ไปทดลองย้อมผ้าครามที่มิมะชิ คังโคโคริว เซ็นเตอร์ ไอโซเมะ เวิร์คชอป (Mimashi Kankokoryu Center Aizome Workshop) ในย่านอุดาสึกันดีกว่า
ในวันที่ไปเก็บข้อมูล เราได้ลองทำมัดย้อมบนผ้าเช็ดหน้า (ขนาดเล็ก) ใช้หนังยางรัดส่วนที่อยากจะทำเป็นลวดลาย (รูปซ้ายบน) ใส่ลงไปในน้ำครามในท่วม (รูปขวาบน)
เมื่อครบเวลาที่กำหนดก็นำขึ้นมา คลี่ผ้าให้ได้สัมผัสกับอากาศ (รูปซ้ายล่าง) เมื่อครามสัมผัสกับออกซิเจนสีก็จะติดผ้า เพราะงั้นถ้ายิ่งจุ่มเข้าจุ่มออกบ่อยครั้งเท่าไร สีครามก็จะยิ่งเข้มขึ้นเท่านั้น
ส่วนที่เป็นลวดลายนี้เป็นส่วนที่ถูกมัดไว้ในตอนแรกเลยไม่สัมผัสกับออกซิเจน สีก็ไม่ติดเลยเป็นสีขาวอยู่อย่างนั้น กิจกรรมนี้ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30-40 นาที ค่าใช้จ่ายสำหรับทำผ้ามัดย้อมเป็นผ้าเช็ดหน้า (ขนาดเล็ก) ราคารวมภาษี 1,000 เยน
ถ้าอยากลองทำแนะนำให้จองก่อนล่วงหน้าเพื่อความชัวร์ รับจองทางโทรศัพท์ (ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น) จะลองไปสอบถามเอาวันจริงเลยหรือไม่ก็วานให้คนของที่พักหรือโรงแรมช่วยโทรจองแทนให้ก็ได้ค่ะ
ที่นี่มีสินค้าจากผ้ามัดย้อมจำหน่ายด้วย เช่น ผ้าพันคอและเครื่องประดับ จะไปเลือกซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกก็ได้
ในย่านนี้ยังมีที่พักอีกแห่งชื่อโนโดเคะยะ (Nodokeya) มาค้างสักคืนแล้วค่อยๆ เที่ยวชมเมืองก็ดีนะคะ
ถ้าอยากเที่ยวแบบเจาะลึกล่ะก็ ไปหาไกด์กันค่ะ
จากโตเกียวไปยังจังหวัดโทคุชิมะ เดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที จากสนามบินไปนิชิอาวะเดินทางด้วยรถยนต์ก็ใช้เวลา 1 ชั่วโมงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับว่าจะไปตรงจุดไหน ยิ่งกว่านั้นการเดินทางไปยังที่ที่มีธรรมชาติกว้างใหญ่ยังค่อนข้างลำบากเพราะมีระบบขนส่งสาธารณะไม่มาก บางสถานที่เป็นทางขึ้นเขาที่คดเคี้ยว จึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการขับรถค่ะ
สำหรับคนที่อยากเที่ยวนิชิอาวะให้ครอบคลุมทั้งหมด และอยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในหมู่บ้านและร้านอาหารที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้ ลองว่าจ้าง "AWA-RE" ซึ่งเป็นออแกไนซ์จัดทัวร์ดูได้ค่ะ
ค่าจ้างไกด์เริ่มต้นที่วันละ 15,000 เยนขึ้นไป ราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแผนเที่ยว รายละเอียดเพิ่มเติมให้ติดต่อสอบถามโดยตรงเลยค่ะ
สะพานอิยะคาซุระ
นอกจากพื้นที่เกษตรกรรม และถนนอุดาสึ ในนิชิอาวะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมอีกมากมาย เช่น ไปข้ามสะพานคาซุระ สะพานหายากที่ทำจากเถาวัลย์ ปีนเขา ล่องแก่งในแม่น้ำ เป็นต้น บอกสิ่งที่เราสนใจตอนติดต่อไป ทางบริษัทจะได้เสนอแผนการเที่ยวมาให้เราค่ะ
เดินทางเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบคนท้องถิ่น
นิชิอาวะ เมืองที่ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันและกันของคนในหมู่บ้าน ปลูกอาหารที่จะทานด้วยตัวเอง คงจะดีไม่น้อยหากได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตปกติที่เคยผ่านมา
ลองไปสัมผัสวิถีชีวิตประจำวันที่อัดแน่นไปด้วยเสน่ห์อันล้นเหลือของนิชิอาวะกันดูไหมคะ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง