Start planning your trip
Ready For Japan! Vol.9 - เที่ยวญี่ปุ่นในบรรยากาศหลากหลายผ่านเสียง
เสียงแบบญี่ปุ่น คือเสียงแบบไหนกัน เสียงเครื่องดนตรีญี่ปุ่นที่บรรเลงท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นของงานเทศกาล หรือเสียงรถไฟวิ่งสวนไปในสถานีรถไฟ ครั้งนี้เราขอพาทุกคนไปเที่ยวญี่ปุ่นผ่านเสียงต่างๆ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมือนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเองขึ้นมาเลย
เที่ยวญี่ปุ่นผ่านเสียง
Photo by Pixta
สำหรับคนที่ชอบเที่ยว การออกไปไหนมาไหนไม่ได้ช่างน่าทรมานเหลือเกิน ช่วงนี้ก็คงทำได้แค่ดูรูปตอนไปเที่ยวครั้งก่อนๆ ไม่ก็ดูหนังดูละครที่มีฉากหลังเป็นสถานที่ที่อยากไปเที่ยว
ครั้งนี้เราขอเปลี่ยนแนวด้วยการพาเที่ยวญี่ปุ่นผ่านเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงของงานเทศกาล เสียงดนตรีและการเต้นพื้นบ้าน เสียงน้ำไหล หรือแม้แต่เสียงดนตรีของสถานีรถไฟ ลองมาเที่ยวทั่วญี่ปุ่นผ่านเสียงกัน
อ่านเพิ่มเติม
บทความพิเศษ รวมเสน่ห์เจแปน Ready For Japan!
1. รื่นเริงไปกับเสียงของเทศกาล
Photo by Pixta
ญี่ปุ่นมีเทศกาลหลากหลายเกือบตลอดทั้งปี เช่น ซันจะมัตสึริของอาซากุสะ และกิองมัตสึริของเกียวโต
ดนตรีที่บรรเลงในเทศกาลส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า ฮายาชิ มีกลองชิเมะไดโกะให้เสียงสูง ขลุ่ยชิโนะบุเอะให้ทำนอง กลองไทโกะคุมเสียงต่ำ และกำกับภาพรวมด้วยผู้ตีระฆังซุริกาเนะ ทำหน้าที่เหมือนเป็นวาทยากร แค่ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นก็จะจินตนาการไปถึงงานเทศกาลแสนรื่นเริงกันในทันที
บางเทศกาลจะมีรถลากขนาดใหญ่ที่เรียกว่าดาชิ และมีเหล่านักเต้นสวมหน้ากากสิงโต สุนัขจิ้งจอก เฮียตโตโคะ (หน้ากากตัวตลกญี่ปุ่น) โชว์การเต้นประกอบไปกับเสียงดนตรี บางครั้งเมื่อรถลากมาเจอกันก็อาจมีการประชันแข่งขันกันด้วยดนตรีและการเต้นให้ชม
ที่อยากแนะนำคือเทศกาลเต้นอาวะโอโดริของจังหวัดโทคุชิมะ ที่จะมีเพิ่มเครื่องสายชามิเซ็น มาร่วมบรรเลงด้วย ท่าเต้นจะแบ่งเป็นของฝั่งชายและฝั่งหญิง มีจังหวะผ่อนช้าและเร่งเร็วสลับไปมา แต่ได้ยินเสียงดนตรีก็ทำให้ใจเต้นตามขึ้นมาเลย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
2. ฟังเสียงวัฒนธรรมดั้งเดิม
เครื่องสายชามิเซ็น จาก "Bunraku Puppet Theater - How To Watch Japan's Traditional Performing Art"
การบรรเลงดนตรีฮายาชิยังเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงดั้งเดิมด้วย เช่น ละครโนห์ที่นักแสดงจะสวมหน้ากากแบบต่างๆ เช่น หญิงสาวหรือยักษ์ ร่ายรำประกอบเสียงดนตรี โดยจะมีกลองสึสึมิเพิ่มเข้ามา การแสดงดั้งเดิมอีกประเภทคือ ละครหุ่นบุนราคุ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ไร้รูปร่าง ใช้เสียงของเครื่องสายชามิเซ็นเป็นตัวแสดงความรู้สึกและอารมณ์ของตัวละครหุ่น
ส่วนศิลปะการแสดงดั้งเดิมที่โด่งดังไปทั่วโลกของญี่ปุ่นคงต้องยกให้ คาบูกิ มีทั้งบทละครที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต และบทละครใหม่ที่เรียกว่าทันสมัยมากๆ เพราะเป็นการดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนมังกะชื่อดังอย่าง ONE PIECE เปิดการแสดงในปี 2015
ก่อนเริ่มการแสดงจริงประมาณ 30 นาที จะมีการบรรเลงดนตรีฮายาชิที่เรียกว่า ชาคุโท ด้วยขลุ่ย กลองชิเมะไดโกะ และกลองโอไดโกะ เป็นการปลุกเร้าความรู้สึกให้คนดูได้เตรียมรับชมการแสดงจริง
บางครั้งกลุ่มนักบรรเลงดนตรีก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากด้วยโดยการสร้างยกพื้นไว้ด้านในสุดของเวที มีทั้งชามิเซ็นและกลองเล็กมาร่วมบรรเลง รวมเรียกว่า เดบายาชิ
จาก "เที่ยวโรงละครคาบูกิซะ แบบไม่ต้องมีตั๋ว (Kabukiza Theatre, Ginza)"
นอกจากเสียงบรรเลงดนตรีและเสียงพูดของนักแสดง จะมีเสียงเอฟเฟกต์ประกอบการแสดงเพิ่มขึ้นมาด้วย และบางครั้งก็เป็นการประยุกต์มาจากของใกล้ตัวจนเราคาดไม่ถึง! อย่างในรูปด้านบนนี้คือเมล็ดถั่วแดงอาซุกิในถาดไม้ ใช้สร้างเสียงเลียนธรรมชาติอย่างหนึ่ง อยากรู้ว่าเป็นเสียงอะไรลองดูจากบทความนี้ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
3. ผ่อนคลายในสวนญี่ปุ่น
สวนญี่ปุ่นมักจำลองเอาทิวทัศน์จากธรรมชาติมาย่อส่วนรวมกันในที่เดียว จึงมีทั้งเนินเขาจำลอง โขดหิน และมีจุดศูนย์รวมเป็นบ่อน้ำใหญ่ ระหว่างเดินเล่นในสวนญี่ปุ่นจะได้ยินเสียงน้ำไหลไปตามทาง และในบางครั้งอาจได้ยินเสียงดังต๊อกเหมือนไม้กระทบกันดังขึ้นมา
นี่คือเสียงของชิชิโอโดชิ จริงๆ แล้วทำขึ้นเพื่อใช้ไล่สัตว์ที่จะมากินพืชผักในไร่นาของชาวบ้าน ด้วยความไพเราะของเสียงจึงถูกนำมาประดับไว้ในสวนญี่ปุ่นอย่างทุกวันนี้
ชิชิโอโดชิทำจากกระบอกไม้ไผ่ตัดปลายแหลม เปิดน้ำให้ไหลเข้าปากกระบอก เมื่อน้ำเต็มกระบอกจะเอนกระดกลงจากน้ำหนักของน้ำ และเด้งกลับตามเดิม ขณะที่เด้งกลับนี่เองที่ก้นกระบอกจะไปกระทบกับก้อนหินที่รองรับอยู่เกิดเป็นเสียงดังก้อง
อ่างล้างมือบางแห่งเมื่อมีน้ำไหลลงไปในบ่อน้ำล้นจะมีเสียงกังวานเหมือนเครื่องดนตรีเมทัลโลโฟน นี่เรียกว่าซุยคิงคุสึ เป็นการฝังโอ่งไว้ใต้ดิน เมื่อมีน้ำหยดไหลลงไปในรูโอ่ง และกระทบผิวน้ำด้านล่างจะเกิดเป็นเสียงก้องไพเราะอยู่ด้านใน ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ
ลองมาหลับตานึกภาพสวนสวยระหว่างฟังเสียงน้ำไหลกัน
4. สดับเสียงระฆังกังวานในวัด
Photo by Pixta
การนั่งสมาธิของนิกายเซ็นมีขึ้นเพื่อฝึกจิตใจให้มีสมาธิกับปัจจุบันกาล ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือที่ไหนก็ทำได้ แต่ถ้าได้ลองไปนั่งสมาธิในวัดจะได้ความรู้สึกที่ต่างไปอย่างเห็นได้ชัด
เสียงระฆังที่ดังกังวานและค่อยๆ ก้องไปทั่วก่อนจะจางหายไปทีละนิดช่วยทำให้รู้สึกจิตใจสงบอย่างบรรยายไม่ถูก การนั่งเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรนี่ยากกว่าที่คิดมาก ไม่แน่เสียงระฆังนี้อาจช่วยเพิ่มสมาธิให้ทุกคนระหว่างทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
5. เพลินไปกับดนตรีประจำสถานีรถไฟ
Photo by Pixta
ท่ามกลางผู้คนพลุกพล่านและเสียงอี๊ดอ๊าดของล้อรถไฟที่บดกับราง เสียงหนึ่งที่เราจะต้องได้ยินเมื่ออยู่ที่สถานีรถไฟในญี่ปุ่นคือเสียงดนตรีที่ดังขึ้นก่อนประตูรถไฟจะปิด แต่ละบริษัทแต่ละสถานีก็มีเพลงต่างๆ กันไป
ด้านบนนี้คือเสียงที่จำลองมาจากเสียงดนตรีของแต่ละสถานีบนรถไฟ JR สายยามาโนเตะ ในโตเกียว ที่มีทั้งสถานีโตเกียว สถานีชิบูย่า และ สถานีชินจูกุ
ส่วนใหญ่เสียงดนตรีเหล่านี้จะดึงเอาเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ มาใช้ เช่น สถานีอากิฮาบาระของรถไฟโตเกียวเมโทร สายฮิบิยะ ก็เลือกเอาเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของกลุ่ม AKB48 มาใช้ สถานีโนกิซากะ ของสายชิโยดะ ก็เลือกเอาเพลง คิมิโนะนะวะคิโบ ของกลุ่ม Nogizaka46 มาใช้
ที่โอซาก้าก็มี อย่างสถานีชินอิมามิยะที่มีย่านบันเทิงชินเซไคอยู่ใกล้ๆ ก็เลือกเอาเพลง Symphony No. 9 "From the New World" ของ Dvorak มาใช้ เพราะชื่อ From the New World ในภาษาญี่ปุ่นแปลไว้ว่า 新世界より (Shinsekai yori) ซึ่งตรงกับชื่อสถานที่ ชินเซไค พอดี
บางสถานีก็เลือกเพลงเจป๊อปหรือเพลงพื้นบ้านมาใช้ คราวหน้าเวลารถไฟไปจอดที่สถานีไหนก็ลองฟังเพลงไปด้วยเพลินๆ อาจจะเจอเพลงที่เรารู้จักก็ได้
เที่ยวตามเสียงทั่วญี่ปุ่น
เสียงที่แนะนำในครั้งนี้เป็นเสียงที่ทุกคนสามารถได้ยินเมื่อมาญี่ปุ่น ครั้งหน้าที่มาเที่ยวญี่ปุ่น ลองมาตามหาเสียงเหล่านี้แล้วฟังของจริงกันดู เชื่อว่าจะต้องไพเราะและได้บรรยากาศกว่าฟังจากวิดีโอแน่นอน
Main image by Pixta
นอกจากนี้ บทความอาจมีลิงก์โฆษณา โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อหรือจอง